กรุงเทพฯ 3 ธ.ค.-รมว.คมนาคม เตรียมนำปัญหาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเสนอนายกฯ โดยเฉพาะประเด็นค่าโดยสาร ซึ่งจะต้องใช้ฐานการคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค และราคาสูงสุดจะต่ำกว่า 65 บาทแน่นอน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงปัญหาการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งจะครอบคลุมส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปรากาที่ กทม.มีกับบีทีเอส และสัมปทานจะสิ้นสุดปี 2572 โดยจะมีการขยายสัมปทานออกไป 30 ปี และยังมีประเด็นปัญหาที่กระทรวงคมนาคมยังไม่เห็นด้วย ในหลายประเด็นนั้น
นายศักดิ์สยาม ระบุว่ากำลังนัดหมายเพื่อขอนำข้อมูลทั้งหมดที่มีเสนอต่อนายกรัฐมนตรีโดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าโดยสารที่มีการนำเสนอข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ได้มีการคำนวณราคาค่าโดยสารรวมเส้นทางปัจจุบัน รวมกับส่วนต่อขยายแล้ว จะมีราคาสูงสุดไม่เกินคนละ 65 บาทนั้น ซึ่งไม่ทราบว่าหน่วยงานที่มีการคำนวณค่าโดยสารดังกล่าวนำฐานข้อมูลมาจากไหน
ขณะที่กระทรวงคมนาคมที่มีหน่วยงานทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใช้ฐานการคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภคและจากข้อมูลที่กระทรวงคมนาคม นำมาคำนวณค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมกับส่วนต่อขยายแล้ว ยืนยันว่าประชาชนจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุดต่ำกว่า 65 บาทแน่นอน
ส่วนประเด็นที่คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ยังมีข้อสงสัยในเรื่องที่ กทม.และบีทีเอส เคยเข้าไปชี้แจงหลายประเด็นนั้น นายศักดิ์สยามระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปชี้แจงคณะกรรมาธิการฯ เอง
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมย้ำว่า การพิจารณารายละเอียดของการขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ยังมีระยะเวลาที่สามารถพิจารณารายละเอียดได้ ไม่ต้องรีบร้อนเนื่องจากสัมปทานจะหมดในปี 2572 โดยยืนยันว่าการพิจารณาจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการ และมั่นใจว่าการขยายสัมปทาน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถสายสีเขียวแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการคำนวณอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากคูคต–เคหะสมุทรปราการ 59 สถานี โดยมีการนำเสนอข้อมูลว่าจะจัดเก็บในราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาท จากราคาปกติ 158 บาทตลอดสาย และเกิดเป็นประเด็นปัญหาข้อขัดแย้งขึ้น ระหว่างกรุงเทพฯ ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม ซึ่งใช้ฐานข้อมูลต่างกัน โดยจากข้อมูลของหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ตรวจสอบพบว่าการคำนวณค่าโดยสาร ที่ระบุว่าจะกำหนดค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท (ข้อมูล กทม.และบีทีเอส) นั้น ใช้ All CPI ที่มีการนำต้นทุนอาหาร และเครื่องดื่มระหว่างการเดินทาง มาคิดคำนวณด้วย ในขณะที่การคำนวณอัตราค่าโดยสารของกระทรวงคมนาคม จะเป็นแบบ Non- Food and Beverage และจากข้อมูลในหน่วยงานกระทรวงคมนาคมขณะนี้ ยืนยันว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุดจะต่ำกว่าราคา 65 บาทมากกว่า 20 %แน่นอน .-สำนักข่าวไทย