กรุงเทพฯ 14 มี.ค.- “คีรี กาญจนพาสน์” นำทีมผู้บริหาร BTS ชี้แจงไม่เคยฮั้วประมูลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ย้ำทำตามกฎหมายทุกขั้นตอน ชี้ ป.ป.ช. ปล่อยเอกสารหลุดผิดปกติ เชื่อเกี่ยวข้องประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือรถไฟฟ้า BTS พร้อมด้วยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฯ และ พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการฯ ร่วมกันแถลงชี้แจงข้อเท็จจริง กรณี ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด
ผู้บริหารรถไฟฟ้า BTS ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม และอดีตผู้ว่ฯ กทม. รวม13 ราย กระทำการทุจริตในสัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท อ่อนนุช-แบริ่ง, สายสีลม ตากสิน-วงเวียนใหญ่ และต่อสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าเส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ออกไปอีก 13 ปี เพื่อให้ทั้ง 3 เส้นทางสิ้นสุดพร้อมกันในปี 2585
นายสุรพงษ์ ระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น BTS ยังไม่ถูกฟ้องร้องหรือดำเนินคดีแต่อย่างใด ยืนยันว่าที่ผ่านมาบริษัททำสัญญาเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีการฮั้วประมูลใดๆ
นายสุรพงษ์ยังชี้แจงสรุปว่า สัญญาว่าจ้างที่เกิดขึ้นไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะมีการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนตามกฎหมายแล้ว แต่ไม่มีคนมาประมูล เพราะเอกชนต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด จึงมีการเสนอให้ ครม. ในปี 2543 พิจารณา และเป็นจุดเริ่มให้มีการเจรจาจ้างตรงผ่านความเห็นชอบของ ครม.
จากนั้น กทม. ได้ทำการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ก่อนทำสัญญาว่าจ้างการเดินรถ กับบีทีเอส โดย กทม. มีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว มีคำวินิจฉัยว่าการว่าจ้างดังกล่าวไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน และมีการลงนามร่วมกันในปี 2555 ต่อมามีผู้ร้องเรียนไปที่ DSI ทำการสอบสวนเรื่องดังกล่าว กระทั่งได้ข้อสรุปในปี 2556 ว่าบีทีเอสไม่มีความผิด ขณะที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง
ด้าน พ.ต.อ.สุชาติ ระบุว่า เรื่องดังกล่าวมีการนำเอกสารซึ่งเป็นรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเอกสารลับมาเผยแพร่โดยมิชอบ ซึ่งส่งผลต่อสำนวนการสอบสวน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดการไต่สวนเรื่องดังกล่าวซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 วันนี้ครบ 11 ปีแล้ว จึงเพิ่งถูกหยิบยกมาพิจารณา เหตุใดใช้เวลาในการสืบสวนสอบสวนยาวนานขนาดนี้ และการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวมาเกิดขึ้นในช่วงที่นายคีรีกำลังต่อสู้เรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ขณะที่การนำเอกสารลับดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ทั้งที่ผลการสอบสวนแจ้งข้อหาผู้เกี่ยวข้องผ่านมา 2 เดือนแล้ว ส่งผลให้หุ้นของบริษัท BTS ราคาปรับตัวต่ำติดฟลอร์ จึงตั้งคำถามว่าต้องการทำลาย BTS หรือไม่ และประธาน ป.ป.ช. ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้หรือไม่
ด้านนายคีรี ระบุว่า รู้สึกแปลกใจที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินคดี เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ตนประมูลการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยมีอำนาจบางอย่างใช้เรื่องนี้เป็นชนักปักหลังให้ตนหยุดเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม พร้อมระบุว่ามีขบวนการที่ต้องการสร้างความเสียหายให้กับ BTS ถึงขนาดล้มละลาย เริ่มตั้งแต่การไม่จ่ายเงินค่าจ้างเดินรถและค่าระบบจำนวนกว่า 4 หมื่นล้านบาท จนต้องฟ้องศาลบังคับ แม้ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ชำระหนี้แล้วแต่ถึงวันนี้ยังไม่มีการชำระ ปล่อยให้ยอดเงินเพิ่มเป็นเกือบ 50,000 ล้านบาทแล้ว แต่ยืนยันว่าจะพยายามทุกวิถีทางในการไม่หยุดเดินรถ หรือเอาประชาชนเป็นตัวประกัน
นายคีรียังยืนยันด้วยว่า ไม่กลัวเรื่องการต่อสู้ทางคดี เพราะตนเป็นนักสู้ สู้เพื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานของประชาชนมาตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว และทำงานบนพื้นฐานความถูกต้องชอบธรรม พร้อมฝากไปถึงภาครัฐว่าเอาแต่ได้หรือไม่ เพราะเก็บเงินค่าโดยสารส่วนต่อขยายทุกวัน แต่กลับจะให้เอกชนควักทุนในการเดินรถ ไม่ยอมจ่ายเงิน หากข่าวนี้เผยแพร่ออกไปทั่วโลกจะสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุนได้ พร้อมย้ำว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีน่าลงทุนมาก แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับบริษัทของตน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กลุ่มพนักงานรถไฟฟ้าบีทีเอส นำโดยนายเศกศักดิ์ หุ่นสะอาด รวมตัวกันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาแก้ไขปัญหาหนี้สินจากการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอสให้บริการมา 20 กว่าปี โดยไม่เคยหยุดการเดินรถ แต่วันนี้พนักงานที่หยุดงานได้ใช้วันหยุดพร้อมใจกันมาที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นคำขาดให้นายกรัฐมนตรีเข้ามาเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินในการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่ง บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นคู่สัญญากับ บมจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่สอง 2 และ 3 ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช. มีคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/2562 เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับหนี้บริการสาธารณะ แต่ผ่านมาจนถึงวันนี้กว่า 4 ปีแล้วหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น KT หรือหน่วยงานใดก็ตาม ไม่ได้ดำเนินการตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แม้บริษัทจะฟ้องศาลปกครองจนมีคำสั่งให้จ่ายเงินแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่จ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถสะสมจะทำให้ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงิน และการใช้จ่ายของบริษัท และทำให้พนักงานทั้งหมดกังวลว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานพนักงานในอนาคต แม้ขณะนี้บริษัทจะยังมีเงินจ่ายพนักงานได้ตามปกติก็ตาม ดังนั้น จึงขอให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้ก่อนการยุบสภาฯ เพราะกังวลว่าหากยุบสภาฯ และหากรัฐบาลใหม่จะไม่ดำเนินการแก้ปัญหา.-สำนักข่าวไทย