ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ธ.ค. – มติศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ชี้คำสั่ง คสช.เรียกบุคคลรายงานตัวขัดรัฐธรรมนูญ ม.29 ส่วนโทษอาญามติเอกฉันท์ ขัด ม.26
วันนี้ (2 ธ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พ.ค.57 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่องกำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค.57 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และเฉพาะประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/ 2557 เรื่องให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 ศาลมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคหนึ่ง
กรณีดังกล่าวนายวรเจตน์ ภาครัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้ ได้ขอให้ศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของตน มาให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่าประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช.ที่เรียกบุคคลให้มารายงานตัวขัดรัฐธรรมนูญว่า จะมีผลให้คดีที่มีการฟ้องหรือพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรม ศาลไม่ต้องการพิจารณาต่อไป โดยศาลต้องยกฟ้องหรือจำหน่ายคดี ส่วนจะมีผลอะไรต่อ คสช.ในฐานะผู้ออกคำสั่งหรือไม่นั้น เห็นว่าไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะเป็นเพียงการตรวจสอบความชอบของการกระทำ ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คงจะไปฟ้องเรียกค่าเสียหายอะไรจาก คสช.ไม่ได้ เพราะอันนี้มันเหมือนคนที่ไปออกกฎหมายแล้วกฎหมายที่ออกมามันขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กฎหมายนี้ก็สิ้นผลบังคับใช้ แต่จะบอกว่าการที่ทำให้คนยุ่งยากช่วงที่กฎหมายนั้นออกมา และศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยแล้วส่งผลกระทบ คงจะไปบอกอย่างนั้นไม่ได้ เพราะท้ายที่สุดคนที่ออกกฎหมายเขาก็เข้าใจว่าเขามีอำนาจในการออก ณ เวลานั้น ๆ
นายอุดม ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ คนที่เดินทางออกไปนอกประเทศก่อนหน้านี้ เพราะต้องการไปรายงานตัวตามคำสั่งเรียกของ คสช. ก็สามารถขอกลับเข้ามาภายในประเทศได้ เพราะคำสั่งเรียกของ คสช.ไม่สามารถใช้บังคับได้ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมา
“จริงๆ เรื่องของเรื่อง เวลาเราพูดถึงอำนาจของภาครัฐ มันมีอำนาจอยู่แล้ว แต่อำนาจนี้ การที่จะไปสืบว่าเขามีเจตนาที่จะทำให้เสียหายมันพูดยาก เพราะวัตถุประสงค์ของการออกกฎหมาย เป็นเรื่องเฉพาะหน้าที่เขาเห็นว่าเขามีอำนาจ มันยากที่จะบอกว่ากรณีนี้ก่อให้เกิดความเสียหาย ฉะนั้นต้องรับผิดในทางแพ่ง ทางอาญา มันยุ่งยากที่จะไปตีความว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบคงไม่ได้ เพราะเป็นความเห็นทางกฎหมายที่แตกต่างกัน” นายอุดม กล่าว. – สำนักข่าวไทย