กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – “ศุภชัย พานิชภักดิ์” อดีตบิ๊ก WTO แสดงความเป็นห่วงประเทศไทย 3 เรื่อง แนะเปิดประเทศให้ถูกจังหวะไม่ช้าหรือเร็วเกินไป ห่วงต่างชาติมองการเมืองไทยเกินจริง และปัญหาความเหลื่อมล้ำ เร่งแก้หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19
นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุม สหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา กล่าวว่า ห่วงประเทศไทย 3 เรื่อง คือ การเปิดประเทศจะต้องไม่ช้าหรือเร็วเกินไป โดยอยากจะให้รัฐบาลดำเนินการและทดลองไปเรื่อย ๆ แต่อย่าเปิดเร็ว การเปิดควรเน้นที่ประเทศไทยอ่อนแอมาก เช่น ด้านการลงทุน โดยอาจพิจารณาเปิดประเทศให้กับกลุ่มนักธุรกิจที่จะเข้ามาลงทุนบวกกับการมีมาตรการรักษาสุขอนามัยจะต้องเข้มข้นมากขึ้น ส่วนการว่างงานไม่มากอย่างที่เคยวิตกกันว่าจะตกงานหลายล้านคน ขณะนี้ตัวเลขผู้ว่างงานอยู่ระดับหลายแสนคนและเริ่มที่จะมากขึ้นแล้ว ดังนั้น โครงการที่ช่วยให้เกิดการจ้างงานต้องส่งเสริมให้เกิดขึ้น
อันดับ 2 คือ เสถียรภาพทางการเมือง ขณะนี้ต่างประเทศนำเรื่องการเมืองของไทยไปพูดเกินกว่าสถานการณ์จริง ซึ่งที่จริงไม่ได้เลวร้ายถึงขนาดนั้น ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงมีความขัดแย้ง และไม่มีประเทศไหนในโลกที่ไม่มีความขัดแย้ง และอันดับ 3 คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หลังผ่านสถานการณ์โควิด-19 ปัญหานี้จะต้องจัดให้เป็นเรื่องสำคัญของประเทศที่จะต้องแก้ไข เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางโอกาส ซึ่งประเทศไทยไม่ได้แก้ยากเหมือนกับประเทศอื่น ๆ เพราะว่ารัฐบาลมีการกระจายอำนาจการปกครอง แต่ประสิทธิภาพต้องการปรับให้ดีขึ้นกว่านี้ ส่วนปัญหาคอรัปชั่นของไทยไม่เป็นเรื่องที่ห่วงที่สุด เพราะประเทศไทยมีการปรับปรุงและดีขึ้นในทุก ๆ ปี
สำหรับการกู้เงินของรัฐบาล หากจำเป็นต้องกู้เงินก็กู้ได้ โดยนำมาช่วยเหลือประชาชนกลุ่มรายได้ต่ำ โดยเฉพาะการใช้เพิ่มทักษะหรือช่วยให้มีโอกาสหางานทำ โดยภาระหนี้ต่อจีดีพีของไทยขณะนี้ยังต่ำกว่าหลายประเทศ โดยประเทศสำคัญในโลกสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่า 100% ของจีดีพี ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศมีสัดสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีสูงกว่าไทยมาก สหรัฐสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงถึง 120-130% ต่อจีดีพี ญี่ปุ่น 270% ต่อจีดีพี ของไทยสัดส่วนใกล้ ๆ 50-60% ต่อจีดีพีประเทศ
“วิงวอนคนดูแลเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ พิจารณาว่าบางครั้งในภาวะเศรษฐกิจคับขันอย่างนี้ ถ้าจำเป็นจริง ๆ งบประมาณปีนี้ รายได้ต่ำกว่ารายจ่ายเป็นแสนล้าน หากจำเป็นกู้เงินก็ต้องกู้ เพื่อรักษาเศรษฐกิจให้มั่นคงอยู่ได้ เพื่อรอเวลาและเมื่อผ่านพ้นจากสถานการณ์โรคระบาดได้ ต่อไปการฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะไม่เกี่ยวการนำเงินมาถมอีกต่อไป แต่จะเป็นไปโดยธรรมชาติ เพราะคนจะเริ่มมีอุปสงค์ต่อสินค้าเองโดยธรรมชาติ” นายศุภชัย กล่าว
สำหรับมาตรการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลก็เห็นใจและเห็นด้วย เพราะส่วนหนึ่งช่วยให้คนที่อ่อนแอที่สุดอยู่ได้ แต่อยากจะแนะนำว่าจะให้ฟรีตลอดเวลาไม่ได้ อยากให้รัฐบาลวางเงื่อนไขว่าเมื่อได้รับเงินช่วยเหลือแล้วต้องนำไปฝึกทักษะ รวมถึงการใช้เงินด้านการเพิ่มงานวิจัยและพัฒนาใหม่ ๆ เพราะรัฐบาลไม่สามารถแจกเงินไปได้ตลอด เนื่องจากยังจำเป็นต้องนำไปใช้พัฒนาโครงการเป้าหมายที่มีมากขึ้น
ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐหรือเมกะโปรเจกนั้น บางโครงการชะลอด้วยสภาพของโครงการเองอยู่แล้วอย่างโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน แต่โครงการที่จะก่อให้เกิดการสร้างงานเช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าเรือแหลมฉบังเฟสที่ 3 ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ซึ่งเป็นโครงการจำเป็นและช่วยสร้างงาน โครงการเหล่านี้ จำเป็นต้องทำต่อไป
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีหน้า เชื่อว่าจากการที่เศรษฐกิจและการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น สหรัฐแม้จะมีการเปิด ๆ ปิดๆ ประเทศ แต่การส่งออกของไทยไปสหรัฐก็เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการนำเข้าทดแทนการนำเข้าจากจีน ในปีหน้าสิ่งที่ทรุดตัวลงไปในปีนี้ แต่ผลพวงจากการที่ประเทศไทยรักษาคนไทยให้ถูกกระทบน้อยที่สุด ปีหน้าก็จะโตขึ้นมาได้จากสิ่งไม่ได้ใช้กลับมาใช้เต็มที่ แต่หลายประเทศประชาชนเสียชีวิตไปกว่าจะสร้างคนขึ้นมาใช้เวลานาน
นายศุภชัยยังห่วงปัญหาภาระหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูงประมาณ 80% ของจีดีพี เพราะโครงสร้างหนี้เกิดจากคนอายุน้อยและสะสมไปจนเกษียณอายุ ซึ่งเกิดจากการฟุ่มเฟือยบางสิ่งบางอย่าง ใช้ของบางอย่างหรือมือถือเกินไปหรือไม่ จึงน่าจะยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9
สำหรับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำนั้น นายศุภชัย กล่าวว่า ระยะหลังปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไม่เห็นด้วย เพราะมองว่านโยบายดอกเบี้ยต่ำไม่ได้ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่กลับเป็นบทลงโทษคนออมเงิน ดังนั้น อยากเห็นอัตราดอกเบี้ยที่ส่งเสริมการออมมากกว่าส่งเสริมการกู้เงินไปใช้ การมีเงินออมมากขึ้นจะเป็นอานิสงค์ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ได้
ด้านเงินบาทที่ผู้ส่งออกต้องการให้อ่อนค่าลง เป็นอีกสิ่งนายศุภชัยเห็นต่าง โดยระบุว่าเงินบาทควรมีเสถียรภาพ ที่ผ่านมาช่วงประเทศไทยเริ่มต้นพัฒนาอุตสาหกรรมส่งออก เงินบาทอ่อนค่าเป็นสิ่งจำเป็นจริง จึงได้ผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันเงินบาทเคลื่อนไหวลักษณะลอยตัวสอดคล้องกับเงินเข้าออกประเทศไม่มีผู้กำหนด หากรัฐบาลหรือ ธปท.เข้าไปทำให้เงินบาทอ่อนค่าไม่เห็นด้วย 100% เนื่องจากประสบการณ์ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยมีบางปีเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่ปรากฏว่าการส่งออกก็ไม่ได้ดีขึ้น ขณะที่บางปีเงินบาทแข็งค่ามาอยู่ในระดับ 29-30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่การส่งออกกลับดีเป็นปกติ เพราะการส่งออกขึ้นกับความต้องการของเศรษฐกิจโลก อีกส่วน คือ หากสินค้าไทยตรงกับความต้องการก็จะขายได้ดี และหากมีการเชื่อมโยงตลาดใหม่ก็จะสามารถขยายตลาดได้ ดังนั้น การระบุว่าเงินบาทอ่อนค่า-แข็งค่าจะช่วยการส่งออก การกำหนดนโยบายอย่างนี้มันง่ายเกินไป.-สำนักข่าวไทย