กรุงเทพฯ 6 พ.ย. ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมชี้ ไบเดน มา เทควอร์ จะยังคงอยู่ เชื่อท่าทีต่อจีนอาจผ่อนปรนลง
นายเจษฎา ศิวรักษ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม เพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นต่อโฉมหน้าของอุตสาหกรรมไฮเทคของประเทศมหาอำนาจ อิทธิพลที่จะส่งผลต่อประเทศไทยหากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นชัยชนะของพรรคเดโมแครตและส่งผลให้นายโจ ไบเดน มีความเป็นไปได้ที่จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ว่า เชื่อว่า Tech war หรือการแข่งขันทางการค้าและเทคโนโลยีระหว่างประเทศมหาอำนาจอาจจะยังคงมีอยู่ แต่การมาของไบเดนน่าจะมีความประนีประนอมกับประเทศจีนมากขึ้น เพราะบริษัทไฮเทคของสหรัฐจำนวนมากอยากขายของให้จีนอยู่ รวมถึงความต้องการมีส่วนแบ่งตลาดที่ยังมีความสำคัญ เช่น Apple ก็ยังต้องการให้มีส่วนแบ่งตลาดในจีนรวมทั้งบริษัทที่ขายชิพ เช่น อินเทล และเอเอ็มดี ในส่วนของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยเฉพาะกับเทคโนโลยี 5G น่าจะมีความร่วมมือกับสหภาพยุโรปมากขึ้น แต่ในอาเซียนจะมีบางประเทศได้ประโยชน์ ไบเดนคงพยายามสนับสนุน ประเทศ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมทั้งออสเตรเลีย ขณะที่อาจมีการสกัดกั้นหัวเว่ยผ่านประเทศที่มีการเลือกพัฒนา 5G core ด้วยเทคโนโลยีจากจีน ในส่วนประเทศไทยขึ้นอยู่กับสหรัฐว่าจะตีความให้ไทยเป็นประเทศภายใต้การครอบงำของจีน หรือไม่ ถ้าถูกมองเช่นนั้นเราอาจไม่ได้ประโยชน์จากการสนับสนุนของอเมริกา ก่อนหน้านี้เคยประเด็นที่เกิดขึ้นกับเวียดนามที่มีการห้ามใช้าเทคโนโลยีหลัก หรือ5G core จากจีน และบางประเทศมีการแสดงท่าทีชัดเจนเช่น ออสเตรเลีย อินเดียที่มีนโยบายกีดกัน 5G จากหัวเว่ย
ท่าทีที่เหมาะสมที่สุดของรัฐบาลไทยคือการวางตัวเป็นกลางจะเหมาะสมที่สุด เราเปิดรับเทคโนโลยีจากทุกด้าน เพราะรัฐบาลเชื่อในการแข่งขัน การเปิดให้มีการแข่งข้ไม่มีการกีดกัน จะทำให้เกิดนวัตกรรม และการสร้างสรรค์ หากมีการออกนโยบายกีดกัน จะทำให้การสร้างสรรค์และการสร้างนวัตกรรมหายไป ดังนั้นนโยบายเป็นกลางและสนับสนุนการแข่งขัน จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย
อย่างไรก็ดีรัฐบาลควรมต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการปกป้องเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology Safeguard Agreement) การปกป้องเทคโนโลยีของประเทศต้นทาง จะได้รับการคุ้มครองไม่ให้รั่วไหลไปยังประเทศปลายทางที่ทางต้นทางไม่ต้องการได้-สำนักข่าวไทย.