ชัยภูมิ 5 พ.ย.63 – มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และ สสน. เปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน จ.ชัยภูมิ แหล่งเรียนรู้การจัดการน้ำและบริหารพื้นที่เกษตรวิถีใหม่ ให้ชุมชนมีน้ำใช้เพาะปลูกได้ทั้งปี และพัฒนาพื้นที่รับน้ำหลากในฤดูฝนแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน
เกษตรกรบ้านโนนแต้ ต.หนองขาม อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกทางการเกษตรใหม่ จากพื้นที่ที่เคยปลูกทำนาทั้งหมด เปลี่ยนเป็นผสมผสานหยิบป่ามาไว้ในที่นา เป็นวิถีเกษตรใหม่ที่สร้างผลผลิตสร้างรายได้เกิดขึ้นตลอดทั้งปี
นายสายยันต์ เหล็กพรม เกษตรกรบ้านโนนแต้ บอกว่า มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) ได้น้อมน้ำแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มาเป็นหลักคิดประยุกต์ใช้ในพื้นที่
ทำให้ตนเองเกิดความคิดนำแนวพระราชดำริ ลองมาปรับใช้กับพื้นที่เกษตร แบ่งส่วนของพื้นที่ทำกินใหม่ลดที่ทำนาเหลือ 4 ไร่ สร้างสระน้ำหัวใจของการเพาะปลูก 1 ไร่ พื้นที่เกษตรผสมผสาน 1.5 ไร่ พื้นที่ปศุสัตว์ 0.5 ไร่ และป่าน้อย 1 ไร่
ซึ่งป่าน้อยนี้ใช้การเพาะปลูกเลียนแบบธรรมชาติ ลงไม้ยืนยันไม้ใหญ่พืชท้องถิ่น เช่นยางนา ประดู่ พะยูงและไม้สัก ผสมกับพืชป่า เช่น หวาย ไผ่ และผักหวานป่า ไม่กี่ปีพืชเจริญเติบโตไม้ใหญ่โตให้ร่มเงา เริ่มมีผลผลิตคล้ายป่า สามารถเก็บเห็ดป่าที่จะขึ้นเฉพาะพื้นที่สมบูรณ์ และมียางนามนพื้นที่ ขายราคากิโลกรัมละ 200-300 บาท ส่วนผักหวานป่าเก็บได้ทุกปี กิโลกรัมละ 200 บาท เน้นกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น แถบไม่ต้องซื้อวัตถุดิบมาปรุงอาหารในแต่ละวัน ลดรายจ่ายของครอบครัวได้จำนวนมาก ที่สำคัญครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมด้วยการเก็บพืชป่าในที่ของตัวเองกว่า 20,000 – 30,000 บาทต่อปี
โดยพื้นที่นี้ตลอด 10 ปี ที่เริ่มปลูกเปลี่ยนเป็นหนึ่งหัวนาป่าไร่น้อย ไม่เคยประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอีกเลย ด้วยมีบ่อน้ำเตรียมไว้สำหรับเก็บน้ำในฤดูฝน น้ำเต็มบ่อสามารถนำไว้ใช้ได้ในช่วงแล้งของทุกปี รวมทั้งการเตรียมบ่อน้ำบาดาลไว้เพิ่มเติม ซึ่งได้จากการเรียนรู้แนะนำจากทั้ง 2 หน่วยงาน จึงมีน้ำใช้อย่างพอเพียงเป็นตัวอย่างให้กับเพื่อนบ้านเริ่มปรับพื้นที่สู่เกษตรวิถีใหม่มากขึ้น ซึ่งมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) ได้ชูให้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน บ้านโนนแต้
ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวว่า น้ำเป็นหัวใจสำคัญของทุกๆด้าน มีน้ำการเกษตรก็เจริญงอกงาม มีน้ำชุมชนก็ชุ่มชื้นไม่แล้งแค้น ซึ่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน บ้านโนนแต้จ.ชัยภูมิ เป็นอีกพื้นที่สามารถเป็นตัวอย่าง เป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนแห่งอื่นนำกระบวนการจัดการน้ำไปประบใช้อย่างเหมาะสม ทั้งด้านเกษตรวิถีใหม่ การบริหารจัดการด้วยแก้มลิง การสร้างเครือข่ายน้ำชุมชน ได้พื้นที่เก็บกักน้ำกว่า 13 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังช่วยฟื้นลำน้ำที่เคยตายไปแล้วกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ชาวบ้านได้ประโยชน์ในระยะยาว ปัญหาที่เคยมีจากน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก แต่กลับขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งก็หายไปชุมชนไม่ต้องหลีกหนีจากพื้นที่ไปหางานทำในที่ไกลบ้าน มีอู่ข้าวอู่น้ำเป็นทรัพยากรที่ชุมชนนำมาใช้ประโยชน์เกิดการพัฒนาตัวเอง และสร้างมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน
สำหรับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน บ้านโนนแต้ จ.ชัยภูมิ มีจุดเรียนรู้ด้านการจัดการ 4 แห่ง แบ่งเป็นจุดที่1.หนึ่งหัวนาหนึ่งป่าน้อย 2.เชื่อมน้ำชี สร้างแก้มลิง เปลี่ยนชีวิต 3.สระน้ำเพื่อชีวิต สำรองน้ำ พึ่งพาตนเองและ 4. ติดตามสถานการณ์น้ำ มองใหญ่ทำเล็ก โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ด้านการจัดการน้ำและแนวทางตามแนวพระราชดำริ ได้ตลอดทั้งปี และขยายโครงการสู่ชุมชนอื่นทั่วประเทศ