กระทรวงการต่างประเทศ 20 ต.ค.- กระทรวงการต่างประเทศจัดการบรรยายสรุปคณะทูตและผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพราะมีเหตุจำเป็น ยืนยันรับฟังข้อเรียกร้องผู้ชุมนุม ขณะที่ตำรวจปฎิบัติตามขั้นตอนกฎหมายพันธกรณีระหว่างประเทศ รวมถึงสื่อมีสิทธิเสรีภาพ
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงภายหลังบรรยายสรุปสถานการณ์ทางการเมืองให้กับคณะทูตานุทูตและองค์การระหว่างประเทศประจำประเทศไทย ว่า การบรรยายสรุปในวันนี้ (20 ต.ค.) ใช้เวลาประมาณ 50 นาที โดยมีคณะทูตเข้าร่วม 84 คน ในจำนวนนี้เป็นเอกอัครราชทูต 37 คน อาทิ เอกอัครราชทูตประจำสภาพยุโรป รัสเซีย อินเดีย และเยอรมนี อุปทูต 13 คน และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ 6 คน อาทิ คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) องค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APT) องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)
นายธานี กล่าวว่า ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้บรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมา ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม โดยรัฐบาลได้มีการเปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุมได้แสดงออกตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีกลไกในการนำข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา อย่างไรก็ตาม การชุมนุมในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 เกิดการเผชิญหน้าของกลุ่มผู้ชุมนุม ขณะที่ในวันที่ 14 ตุลาคม สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความรุนแรงและก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยของสาธารณะในภาพรวม ในบางช่วงยังมีการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อขบวนเสด็จฯ เป็นการข้ามเส้นแบ่งที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ขณะเดียวกันประเทศไทยมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอยู่ก่อนหน้านี้ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่ระบาด จึงทำให้รัฐบาลได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ตามมา
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ชี้แจงเกี่ยวกับรายละเอียดของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จัดกำลังดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อป้องกันเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้และป้องกันเหตุกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุม ทั้งยังเฝ้าระวังผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ และควบคุมการนำอาวุธเข้ามาในที่ชุมนุม โดยยืนยันว่าการใช้อำนาจหน้าที่เป็นไปตามกฏหมาย ขณะที่สื่อต่าง ๆ สามารถมีสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อเข้าควบคุมพื้นที่ตามหลักสากล และดำเนินการอย่างมีขั้นตอนด้วยความอดทนอดกลั้นมาโดยตลอด เป็นไปตามกฎหมายไทยและตามพันธกรณีที่ไทยมีอยู่กับกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงกระบวนการดำเนินการในขั้นต่อไปของรัฐบาลในการรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องจากประชาชนทุกฝ่าย รวมทั้งการสร้างความเข้าใจกับประชาชน นอกจากนี้ยังได้แจ้งให้ทราบถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (20 ต.คง) ที่มีมติให้มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออกและพิจารณาข้อเสนอของผู้ชุมนุมในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นทางออกที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม
นายธานี กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการถามตอบนั้น มีคำถามถึงความคาดหวังของการเปิดประชุมสภาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าคงต้องพิจารณาข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมทั้ง 6 ข้อ จะมีการรับฟังและหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกันในที่ประชุมรัฐสภาต่อไป นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับการปิดสื่อ ซึ่งรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ประชาชนยังสามารถเข้าถึงสื่อได้ แต่บางสื่อที่มีการให้ข้อมูลที่บิดเบือน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา คือ กระทรวงดิจิทัลพิจารณาดำเนินการต่อไป
นายธานี กล่าวอีกว่า ยังมีการถามเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่าทำไมถึงเป็นสถานการณ์ร้ายแรง และคำถามเกี่ยวกับพันธกรณีของไทยต่อความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้อธิบายว่าเป็นเพราะสถานการณ์มีพัฒนาการรุนแรงขึ้นตามลำดับ ส่วนปลัดกระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่าไทยปฏิบัติตามกรอบกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างครบถ้วนทุกประการ.-สำนักข่าวไทย