รัฐสภา 20 ต.ค. -กมธ.ศึกษาแก้รธน. ไม่ขยายเวลา คาดส่งประธานรัฐสภาได้สัปดาห์หน้า “ชัยวุฒิ” ยัน สมาชิกรัฐสภายินดีแก้ไขบางประเด็น ขอให้อดทนรอ ต้องรอบคอบ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ 6 ฉบับก่อนรับหลักการ รัฐสภา แถลงว่า คณะกมธ.ฯจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติให้เสร็จภายในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นการพิจารณาตามกำหนดเวลา 30 วัน คาดว่าจะส่งให้สภาได้ในวันที่ 26 – 27 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ประธานรัฐสภาบรรจุระเบียบวาระการประชุม และคาดว่าจะพิจารณาได้สัปดาห์หน้าหรือต้นเดือนพฤศจิกายน ดังนั้น การทำงานของคณะกมธ.ฯ จึงเป็นไปตามกำหนด
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ส่วนของความเห็นเรื่องการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ยังเป็น 2 แนวทาง คือ 1.สามารถทำได้โดยการตั้งส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ2. ยังทำไม่ได้ เพราะขัดต่อคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ว่าการจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องทำประชามติก่อนจะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงต้องให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจในวันที่พิจารณารับหลักการอีกครั้ง ส่วนญัตติอื่น ๆ กมธ.ได้พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และหาข้อสรุปเพื่อให้สมาชิกรัฐสภาตัดสินใจต่อไป
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะมีข้อจำกัดหลายเรื่อง ไม่ใช่ว่าเราอยากจะแก้ได้ทุกเรื่อง นอกจากจะพูดถึงมาตรา 256 ยังมีมาตรา 255 ที่เขียนไว้ชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐจะกระทำมิได้ ซึ่งการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเราต้องพิจารณามาตรา 255 ประกอบด้วย เราจึงเขียนในญัตติของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ว่าเราจะไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 แต่ก็มีกระแสของบุคคลบางกลุ่มที่อยากให้แก้ทั้งฉบับ ซึ่งอาจจะขัดกับมาตรา 255 การดำเนินการต่าง ๆ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ และสามารถทำได้ในทางกฎหมายด้วย” นายชัยวุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า พิจารณาได้ทันในการประชุมสภาสมัยวิสามัญที่คาดว่าจะเปิดในสัปดาห์หน้าหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจ แต่ตามปกติก่อนจะนัดประชุมรัฐสภาต้องแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ซึ่งหากเป็นช่วงต้นสัปดาห์ คิดว่าไม่ทัน แต่อาจจะเป็นปลายสัปดาห์หรือต้นสัปดาห์ถัดไปอาจจะทัน ซึ่งการจะรอไปอีกสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ ไม่น่าจะทำให้บ้านเมืองเสียหาย เพราะกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาอยู่แล้ว ไม่ใช่วันสองวันจะเสร็จ เพราะเป็นกฎหมายสำคัญของประเทศ จึงอยากให้ประชาชนอดทน และยอมรับกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำประชามติ และใช้กันมาตั้งแต่ปี 2560
“สมาชิกรัฐสภาทุกคนเห็นพ้องกันว่ารัฐธรรมนูญอาจมีบางประเด็น บางมาตรา ที่ต้องแก้ไข และยินดีที่จะแก้ไข แต่ประเด็นที่มีความเป็นห่วงตอนนี้ คือเรื่องการตั้งส.ส.ร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำได้หรือไม่ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ นี่คือเรื่องใหญ่ที่ทำให้ถกเถียงกันนานเป็นพิเศษ” นายชัยวุฒิ กล่าว
ทั้งนี้ มีรายงานว่า มีความเป็นไปได้ว่า ปมปัญหาที่กำลังถกเถียงถึงการ ตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับทำได้หรือไม่ และขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยน่าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งคาดว่าการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้น่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไปแล้ว โดยเชื่อว่า น่าจะเป็น ส.ว.ที่จะเป็นผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะส.ส.มั่นใจว่าการตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญไม่ขัดกฎหมาย.-สำนักข่าวไทย