ประจวบคีรีขันธ์ 25 ก.ย. – อัยการสั่งสอบปากคำเพิ่มผู้เกี่ยวข้องในคดีพนักงานราชการ สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยักยอกทรัพย์ของทางราชการกว่า 40 ล้านบาท
จากกรณี น.ส.ขนิษฐา หอยทอง อายุ 28 ปี พนักงานราชการ สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถูกแจ้งดำเนินคดีข้อหายักยอกทรัพย์ ปลอมเอกสารของทางราชการ และใช้เอกสารปลอม หลังนำเงินงบประมาณทางราชการกว่า 40 ล้านบาท โอนผ่านระบบการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ GFMIS เข้าบัญชีส่วนตัว และพบการกระทำความผิด 165 ครั้ง ต่อมาพนักงานอัยการคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 จ.สมุทรสงคราม มีคำสั่งปล่อยตัว น.ส.ขนิษฐา หอยทอง พ้นการคุมขังที่เรือนจำกลาง จ.สมุทรสงคราม เนื่องจากครบกำหนดฝากขัง 7 ผัด รวม 84 วัน ตามกฎหมาย แต่ยังไม่มีการสรุปสำนวนสั่งฟ้อง ทำให้นางสาวขนิษฐาถูกปล่อยตัว
ความคืบหน้าคดีดังกล่าว พ.ต.อ.เจริญ ชลประเสริฐ ผกก.หัวหน้าพนักงานสอบสวนตำรวจภูธร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้เชิญตัวนางประชิต วงศ์ประภารัตน์ นักวิชาการการเงินและบัญชีชำนาญการ สำนักงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ต้องหาในคดีดังกล่าว เข้าสอบปากคำเพิ่มเติมตามที่พนักงานอัยการสั่งสอบเพิ่มเติม หลังถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เบื้องต้นผู้ต้องหามอบอำนาจให้ทนายความเข้าเลื่อนการให้ปากคำ
ขณะเดียวกันได้เรียกตัวสามีนอกสมรสของ น.ส.ขนิษฐา ผู้ต้องหา มาให้ปากคำ เนื่องจากพบว่ามีการโอนเงินจากการทุจริตเข้าบัญชี โดยพนักงานอัยการคดีทุจริตฯ ได้ทำการทักท้วง หลังพบว่าสำนวนการสอบสวนไม่ครบถ้วน และสั่งให้สอบพยานเพิ่มอีกหลายราย รวมทั้งสอบปากคำนายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงด้วย
ในขณะที่ผู้สื่อข่าวได้เข้าสังเกตการสอบปากคำเพิ่มของผู้เกี่ยวข้อง พ.ต.อ.เจริญ แสดงอาการไม่พอใจสื่อมวลชน พร้อมเชิญสื่อมวลชนออกจากห้องสอบสวน โดยระบุว่าการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนออกสู่สาธารณชนทำให้เกิดความวุ่นวายในคดีดังกล่าวไปหมด
มีรายงานจากแหล่งข่าวระบุว่า สาเหตุที่ทำให้มีการปล่อยตัว น.ส.ขนิษฐา ชั่วคราว เนื่องจากพนักงานสอบสวนทำสำนวนไม่รัดกุม และตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการตัดตอนเพื่อให้มีผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องเหลือเพียง 3 ราย โดยไม่เชื่อมโยงปัญหาการทุจริตที่มีวงเงินงบประมาณจำนวนมาก และข้าราชการระดับสูง ขณะที่ผลการสอบข้อเท็จจริงในระดับจังหวัดที่มีปลัดจังหวัดทำหน้าที่เป็นประธานสอบสวน ได้ขอต่ออายุการสอบสวนจากผู้ว่าฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพราะติดขัดการติดตามข้อมูลในระบบการเงิน ต้องใช้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในระบบคอมพิวเตอร์จากหน่วยงานในส่วนกลาง และหลังจากมีการสรุปข้อเท็จจริง จังหวัดได้แจ้งให้กระทรวงมหาดไทยรับทราบ เพื่อตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยและการรับผิดทางละเมิด
สำหรับการสอบข้อเท็จจริงที่มีความล่าช้ามีปัญหาจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือ และเข้าข่ายโดนฟ้องเรียกค่าเสียหาย หลังจากปล่อยให้มีการเบิกจ่ายเช็คที่มีการลงลายมือชื่อปลอมของผู้มีอำนาจสั่งจ่าย และมีการตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันอยู่ในช่วงการพิจารณาแต่งโยกย้ายในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ อาจทำให้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยฯ ล่าช้า เพราะหัวหน้าสำนักงานจังหวัดคนปัจจุบัน มีคุณสมบัติเข้าข่ายได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้ว่าราชการจังหวัด หากยังไม่ถูกตั้งกรรมการสอบทางวินัย จากความบกพร่องและประมาทเลินเล่อในการกำกับการทำหน้าที่ควบคุมระบบการเงินในหน่วยงาน .-สำนักข่าวไทย