สปสช.21 ก.ย.-สปสช จับมือไปรษณีย์ไทย เพิ่มศักยภาพจัดส่งยาให้ผู้ป่วยบัตรทอง รองรับบริการการแพทย์ยุคใหม่ เริ่มมาแล้ว 5 เดือน มีรพ.เข้าร่วม 209 แห่ง ส่งยาให้ผู้ป่วย1.3แสนราย จำนวน 1.4 แสนครั้ง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการพัฒนาระบบบริการจัดส่งยา เวชภัณฑ์ที่ไม่ใช่ยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ทางไปรษณีย์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
นายอนุทิน กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ได้มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการ ด้านการแพทย์ให้สอดรับกับสถานการณ์ และรองรับบริการทางการแพทย์ในอนาคต ซึ่งการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยทางไปรษณีย์ เป็นหนึ่งในบริการใหม่ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อรองรับสถานการณ์นี้เช่นกัน โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะสนับสนุนค่าใช้จ่าย การจัดส่งยาให้กับโรงพยาบาลในสังกัด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อให้กับผู้ป่วย และลดความแออัดในโรงพยาบาล
เบื้องต้นเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ทั้งโรงพยาบาลและผู้ป่วยให้การตอบรับจำนวนมาก ช่วงเดือนแรกมีบริการจัดส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์เกือบ 3หมื่น ครั้ง ทำให้มีการขยายระยะเวลาการสนับสนุนค่าบริการจัดส่งยาให้กับโรงพยาบาลในสังกัดตลอดปี 2563 และเตรียมต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2564 โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลตอบรับ เข้าร่วมจัดส่งยาทางไปรษณีย์ให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองแล้ว 209 แห่ง ผู้ป่วยรับบริการจัดส่งยา 1.2 แสนคน และมีการจัดส่งยาให้ผู้ป่วย 1.44 แสนครั้ง
สำหรับแนวทางความร่วมมือในระยะต่อไป บริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัด ได้วางแผนพัฒนาให้บริการจัดส่งยาในกลุ่มประเภทยาที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ โดยออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับการจัดส่ง พร้อมระบบขนส่งพิเศษ แยกจากระบบจัดส่งปกติของไปรษณีย์ไทย เพื่อควบคุมให้ยายังคงคุณภาพตลอดระยะทางการจัดส่งจนถึงมือผู้ป่วย ซึ่งภายในปี 63 จะเริ่มทดลองบริการจัดส่งยา ที่ต้องควบคุมอุณหภูมินำร่องระยะแรกในพื้นที่กรุงเทพฯปริมณฑล และจะพัฒนาบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัด ในปี 2564.-สำนักข่าวไทย