ระยอง 20 ก.ย.- โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ แก้ปัญหาคนกับช้าง พัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังช้างป่า ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านเครือข่ายชุดเฝ้าระวัง สร้างระบบเตือนภัยชุมชน ผ่านกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ ซึ่งดำเนินงานโดย “ศูนย์ปฏิบัติการคชานุรักษ์” เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของช้างป่า พื้นที่ต้นแบบพื้นที่ป่าอนุรักษ์สร้างแหล่งน้ำและอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์ พืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่งดิน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ขณะเดียวกัน ก็พยายามผลักดันให้ช้างกลับเข้าไปอยู่ในป่า
กรณีชาวบ้านได้รับผลกระทบจากช้างป่า ออกมากัดกินและทำลายพืชผล ในพื้นที่จังหวัดระยองต่อเนื่องนานนับปี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการฯ
“นายพรชัย วนัสรุจน์” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง พาคณะสื่อมวลชนเดินทางลงพื้นที่สำรวจตัวอย่างการพัฒนาพื้นที่ป่า ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบ “โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์” ซึ่งมีตัวอย่างทั้ง การสร้างแหล่งน้ำและอาหารให้มีความอุดมสมบูรณ์ แต่ไม่ควรให้สมบูรณ์จนเกินไป เพราะจะทำให้ช้างอาศัยอยู่ถาวร การปลูกพืชอาหารช้าง ทุ่งหญ้าอาหารช้าง และโป่งดิน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ขณะเดียวกัน ก็พยายามผลักดันให้ช้างกลับเข้าไปอยู่ในป่า การสร้างระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตือนภัยให้กับชุมชน ติดตั้งกล้อง CCTV วิทยุเตือนภัยก่อนช้างเข้าถึงชาวบ้าน
การแก้ไขปัญหาภัยจากช้างป่าได้ดีที่สุด คือ การสร้างระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตือนภัยให้กับชุมชน ตั้งแต่บริเวณเขตป่าอนุรักษ์ แนวกันชน และพื้นที่ชุมชน การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังที่ทำงานร่วมกันระหว่าง หน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และอาสาสมัครท้องถิ่น จะช่วยให้เกิดระบบการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ที่จะลดผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตือนภัย ช่วยให้เกิดความรวดเร็ว แม่นยำในการแจ้งเตือนภัยได้มากขึ้น
โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ครอบคลุมพื้นที่ รอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดระยอง, จังหวัดจันทบุรี, จังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดสระแก้ว และจังหวัดชลบุรี ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ ประสบปัญหาการรุกรานของช้างป่า เข้ามากินพืชผัก ผลผลิตของเกษตรกรได้รับความเสียหาย ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนงานร่วมกัน เช่น กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกับชาวบ้าน คอยบอกต่อแจ้งข้อมูลข่าวสาร ดูพฤติกรรมของช้าง ซึ่งลดผลกระทบไปได้มากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่า และมีความเข้าใจพฤติกรรมของช้างและพฤติกรรมที่คนควรปฏิบัติต่อช้างด้วยเช่นกัน .-สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ► หมู่บ้านคชานุรักษ์ สมดุลคนและช้าง ภายใต้โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์