19 ก.ย.- สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. พาคณะสื่อมวลชนเดินทางลงพื้นที่โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ หรือหมู่บ้านคชานุรักษ์ ในจังหวัดระยอง และจันทบุรี เยี่ยมชมแปลงเกษตรชุมชน การปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกพืช เรียนรู้วิธีอยู่กับช้างป่า จากปัญหาช้างป่าทำลายพืชผลการเกษตร
นายสมชาย รถทอง ผู้ใหญ่บ้านเนินจำปา หมู่ 3 ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยถึงโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ที่เริ่มนำร่องฟื้นฟูพื้นที่ป่า ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม สร้างแหล่งน้ำใหม่ สร้างฝายชะลอน้ำ แหล่งอาหารสัตว์ป่าและโป่งเทียม พัฒนาคน ป่า แนวกันชนเส้นอยู่ระหว่างป่ากับชุมชน พร้อมกับสร้างระบบเตือนภัยชุมชน ผ่านกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าอัตโนมัติ ซึ่งดำเนินงานโดยศูนย์ปฏิบัติการคชานุรักษ์ เพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของช้างป่า โดยเฉพาะช้างที่มีแนวโน้มเดินออกนอกเส้นทางที่ควรเดิน ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดต่อชุมชน และนำข้อมูลการเดินของช้างมาใช้วางแผนฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยของช้าง โดยเริ่มมีหมู่บ้านนำร่องแปลงวิสาหกิจชุมชนสมาชิก 30 ราย
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก เป็นกรณีความขัดแย้งหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น การแก่งแย่งเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย ปัญหาประชากรช้างป่า รวมถึงกรณีการปะทะระหว่างคนและช้างทั้งโดยเจตนาและโดยบังเอิญ จนอาจเกิดอันตราย และกรณีพืชผลทางการเกษตรที่เสียหาย เนื่องจากช้างป่าเคลื่อนย้ายมาหากิน หรือเคลื่อนที่ผ่านพื้นที่เพาะปลูก ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ
“อาธร เอี่ยมละออ” ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาช้างป่ารบกวนและอาศัยอยู่ใน “หมู่บ้านคชานุรักษ์” ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เปิดเผยถึงการทำความเข้าใจพฤติกรรมของช้างและพฤติกรรมที่คนควรปฏิบัติต่อช้าง ให้สามารถอยู่ร่วมกับป่าและสัตว์ป่าได้ โดยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และมีการปลูกพืชที่ช้างชอบมาก่อน เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว สับปะรด ขนุน และทุเรียน ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหาย จึงแก้ไขปัญหาปรับเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูกพืชอาหาร และพืชเศรษฐกิจที่ช้างไม่ชอบพืชที่มีกลิ่นฉุน เช่น ตะไคร้ ชะอม มะกรูด รวมทั้งเสริมอาชีพทางเลือกให้แก่ชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาพัฒนาอาชีพปัจจุบันให้สอดคล้องกัน และการสร้างอาชีพเสริมให้แก่ชุมชนสร้างรายได้ต่อยอด
ช้างเป็นสัตว์สำคัญที่มีความผูกพันคู่กับประเทศไทยมานาน และมีบทบาทต่อสังคมไทยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช้างป่า แต่จะต้องไม่ให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จึงทำให้เกิดโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงเป็นองค์ประธานที่ปรึกษา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นองค์ประธาน
โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาที่สาเหตุตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนกับช้างป่าอย่างยั่งยืน รวมทั้งอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก .-สำนักข่าวไทย