แอฟริกาใต้ 4 ม.ค. – ปัญหากระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างป่าที่บุกเข้ามาทำลายพืชผลการเกษตร ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่ในประเทศแอฟริกาใต้ก็เกิดกรณีแบบเดียวกัน ไปดูแนวทางแก้ปัญหาว่า จะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
โครงการ “รั้วผึ้งกันช้าง” มีการทดลองทำได้ผลในไทยเช่นกัน ที่อำเภอแก่งหางแมว จ.จันทบุรี ซึ่งเรียกว่า “แก่งหางแมวโมเดล” แต่ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้คือ ต้องมีแหล่งอาหารให้ผึ้ง ซึ่งก็คือน้ำหวานจากเกสรดอกไม้ โดยจะต้องมีดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ผลิบานสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนตลอดทั้งปี และจะต้องเป็นต้นไม้ที่ไม่ถูกฉีดพ่นด้วยสารเคมีอย่างเด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่อผึ้งได้
ด้วยขนาดร่างกายที่ใหญ่โตและน้ำหนักตัวหลายตัน ทำให้ช้างที่โตเต็มวัยต้องการอาหารมากกว่าวันละ 100 กิโลกรัม และเจ้างวงยาวก็ไม่เคยสนใจอยู่แล้วว่าพืชพรรณธัญญาหารที่หาเจอนั้นจะเป็นเรือกสวนไร่นาที่มีเจ้าของ มีป้ายห้าม หรือทำรั้วกั้นไว้ เพราะช้างมองเห็นก็แต่อาหารอันโอชะเท่านั้น
ปัญหากระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างป่าในดินแดนซาฟารีอย่างที่แอฟริกาใต้ จึงไม่แตกต่างกับไทย และแนวคิดที่จะแก้ปัญหาก็คล้าย ๆ กันนั่นคือ ใช้สัตว์ตัวน้อยอย่างผึ้งมาช่วยไล่สัตว์ใหญ่อย่างช้าง
NGO กลุ่ม Elephants Alive ทดลองทำโครงการรั้วผึ้งกันช้างบริเวณรอยต่ออุทยานแห่งชาติ Kruger ทางตะวันออก-เฉียงเหนือของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเหมือนจะได้ผลดี แม้ว่าผิวหนังของช้างจะหนาถึงราว 3 เซนติเมตร แต่มันกลับมีประสาทสัมผัสที่อ่อนไหวอย่างไม่น่าเชื่อ ช้างที่โตเต็มวัยสามารถรับความรู้สึกได้ตอนที่มีแมลงบินมาเกาะบนหลัง และแน่นอนว่ามันย่อมไม่อยากถูกพิษเหล็กไนอันเจ็บปวดของผึ้งต่อยเข้าเป็นแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่อ่อนโยนมาก ๆ อย่างที่ปลายงวง ซึ่งธรรมชาติของเจ้าผึ้งตัวน้อยก็ชอบมองหาตรงที่ที่ผิวหนังมีความชื้นเสียด้วย หากเจ้าตัวใหญ่ถูกผึ้งต่อยตรงปลายงวง นอกจากความเจ็บปวดแล้วยังอาจทำให้มันมีปัญหากับการหายใจ หรือถึงขั้นหายใจไม่ออกได้เลยทีเดียว และช้างก็ฉลาดพอที่จะจดจำได้ว่ามันจะต้องหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้ หรือรุกล้ำถิ่นที่อยู่ของเจ้าแมลงตัวน้อยนี้
หลังเริ่มทดลองโครงการรั้วผึ้งกันช้างมาได้ราว 2 ปี และเห็นผลสำเร็จ ทีมนักวิจัยได้พยายามปรับปรุงวิธีการให้ได้ผลดีขึ้น โดยเฉพาะการทำรังผึ้งที่ต้องไม่ให้มีผลกระทบต่อต้นไม้ใหญ่ หรือทำให้เนื้อไม้เกิดความเสียหาย มีการนำวัสดุอย่างไฟเบอร์กลาสมาทำเป็นกล่อง หรือลังเลี้ยงผึ้งที่สามารถเคลื่อนย้ายไปยังที่ที่ต้องการได้ รวมทั้งสามารถแขวนขวดน้ำหวานเพื่อเพิ่มแหล่งอาหารให้แก่ผึ้งได้ด้วย ส่วนผลพลอยได้ที่ตามมาคือ น้ำผึ้ง ไขผึ้ง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากผึ้งก็ยังสามารถนำไปจำหน่ายได้อีกด้วย.- สำนักข่าวไทย