กรุงเทพฯ 17 ก.ย. – เหลือ 2 วันจะถึงการชุมนุมกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” สำนักข่าวไทย ลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่การแถลงข่าวจัดชุมนุม ซึ่งจะจัดแบบเบิ้มๆ เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการรับมือ และการคัดค้าน
วันที่ 9 กันยายน 2563 กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” แถลงข่าวจัดชุมนุม “19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร” รวมพลแบบเบิ้มๆ เตรียมใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหากผู้คนเข้าร่วมจำนวนมากอาจขยายออกไปยังพื้นที่สนามหลวง พร้อมชวนรำลึกความหลังครบรอบ 14 ปีของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในวันถัดมา (10 ก.ย.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ไม่อนุญาตให้จัดการชุมนุม เพราะไม่เข้าเงื่อนไข 3 ข้อ ตามประกาศเรื่องแนวทางการอนุญาตจัดชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย
และในวันถัดมา น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ “รุ้ง” หนึ่งในตัวแทนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นำพวงหรีดที่มีข้อความว่า “อาลัยจิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ไปวางไว้บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ทางการเมือง พร้อมย้ำว่าจะยังคงจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยต่อไป แม้มีการเอาโซ่มาคล้องหน้าประตู ก็จะทำการตัดโซ่เพื่อเข้าไปภายใน เพราะมหาวิทยาลัยฯ เป็นสถานที่สัญลักษณ์ของขบวนการประชาธิปไตย
วันที่ 14 กันยายน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน เป็นครั้งแรกว่า ได้กำชับไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรง และต้องดูแลความปลอดภัย เพราะผู้ชุมนุมเป็นลูกหลาน พร้อมป้องกันไม่ให้ใครเข้าไปหาประโยชน์
ขณะที่ “คณะก้าวหน้า” ได้โพสต์ขายอุปกรณ์ตัวช่วยเพื่อเข้าร่วมการชุมนุม จำนวน 2 เซต ราคา 499 และ 799 บาท อาทิ หมวก กระเป๋า เสื้อ ร่ม และกระติกน้ำ
วันที่ 15 กันยายน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมระมัดระวังกลุ่มผู้ไม่หวังดีและมือที่ 3 หลังพบว่าอาจมีผู้ปลุกระดมด้วยข้อมูลเท็จ พร้อมย้ำให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงหลีกเลี่ยงการปะทะกับผู้ชุมนุม
ขณะที่นายแก้วสรร อติโพธิ ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่น 2,966 รายชื่อ คัดค้านผู้ชุมนุมใช้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัย และอ้างความเห็นของบรรดาศิษย์เก่าว่า การจัดชุมนุมครั้งนี้ไม่มีทั้งความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และความสามารถที่จะจัดชุมนุมโดยสงบ
ส่วนเมื่อวานนี้ (16 ก.ย.) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เรียกตำรวจสันติบาล กทม. กองบัญชาการตำรวจนครบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ประชุมรับมือสถานการณ์ หลังมีข่าวว่า ผู้ชุมนุมอาจเคลื่อนขบวนประชิดทำเนียบฯ ช่วงเช้าตรู่วันที่ 20 กันยายน สอดคล้องกับท่าทีของรองนายกฯ วิษณุ ที่บอกว่า รัศมี 50 เมตร รอบทำเนียบฯ เป็นพื้นที่ห้ามชุมนุมตามกฎหมาย
อีกความเคลื่อนไหวเมื่อวานนี้ คือ กรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของอดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อวินิจฉัยว่า การชุมนุมปราศรัยของกลุ่มเยาวชนปลดแอก นำโดย นายอานนท์ นำภา, นายภานุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ภายใต้ชื่อกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองหรือไม่
ขณะที่ สตช. วิทยุในราชการตำรวจ รวมพล 57 กองร้อย เกือบ 9,000 นาย เข้ากรุงเทพฯ เพื่อรับมือ ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา นักเคลื่อนไหวคนสำคัญ ได้เข้ายื่นหลักฐาน พร้อม 11 รายชื่อท่อน้ำเลี้ยงกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน เพื่อให้ตรวจสอบว่าเป็นการฟอกเงินหรือไม่
ล่าสุดวันนี้ (17 ก.ย.) กลุ่ม ศอปส. รวมตัวหน้าตึกไทยซัมมิท ต่อต้านการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน พร้อมเรียกร้องให้ผู้ที่อยู่เบื้องหลังแสดงตัว
ขณะที่ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงสนับสนุนการแสดงออกของนิสิตนักศึกษาในการชุมนุม พร้อมขอให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดพื้นที่ให้นักศึกษา
และล่าสุดนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า จะใช้ความอดทนอย่างยิ่งยวด แต่ต้องรู้ว่าอะไรควรไม่ควร หากใกล้เขตพระราชฐาน ยืนยันว่า “กฎหมายคือกฎหมาย”
โดยในวันพรุ่งนี้ (18 ก.ย.) ต้องจับตาท่าทีของผู้ชุมนุมที่น่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้สถานที่ชุมนุม เพราะต้องตั้งเวทีและเตรียมแผนการดำเนินงานต่างๆ รวมถึงการชุมนุมในวันเสาร์ที่ 19 กันยายน ว่าจะมีมวลชนเข้าร่วมมากน้อยแค่ไหน ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 20 กันยายน เกี่ยวกับการเคลื่อนขบวนว่าจะเดินไปยังทำเนียบรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งถือเป็นท่าทีสำคัญ ก่อนที่ในวันที่ 23-24 กันยายน จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระรับหลักการญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ. – สำนักข่าวไทย