กรุงเทพฯ ส.ค. – Chevron Enjoy Science จับมือศูนย์ SEAMEO STEM-ED – หน่วยงาน 3 กระทรวงหลัก ส่งเสริมนโยบาย “สะเต็มศึกษา” หวังต่อยอดสู่โมเดลการศึกษาอาเซียน
กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต และศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO STEM-ED) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือพัฒนาสะเต็มศึกษา ครอบคลุมทั้งการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะวิชาชีพและการวิจัยเพื่อส่งเสริมคุณภาพเยาวชนให้มีทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 หวังสร้างต้นแบบแนวปฏิบัติที่ดีผลักดันเข้าสู่ระดับนโยบายแก้ปัญหาประเทศระยะยาว ก่อนต่อยอดใช้เป็นโมเดลการศึกษาอาเซียนต่อไป
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และในฐานะสมาชิกองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) กล่าวว่า ความร่วมมือจากทุกภาคีครั้งนี้ ถือเป็นการผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานด้านการศึกษาและด้านการพัฒนาวิชาชีพกับภาคเอกชนในรูปแบบคลัสเตอร์เป็นครั้งแรก ปัจจุบันชาติอาเซียนกำลังเผชิญปัญหาคล้ายกันที่ล้วนสัมพันธ์กับสะเต็มศึกษา โดยเฉพาะขาดการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ด้วยศักยภาพของศูนย์ SEAMEO STEM-ED จึงคาดหวังว่าจะสามารถนำแนวปฏิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยไปพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบแก้ปัญหาด้านการศึกษาของภูมิภาคอาเซียน
นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวว่า ศูนย์ SEAMEO STEM-ED มุ่งเน้นการขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาเข้าสู่ระดับนโยบายของประเทศ โดยเข้าไปบริหารโครงการ Chevron Enjoy Science ระยะ 2 ส่งเสริมและให้ข้อแนะนำถึงการเรียนรู้สะเต็มศึกษาทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน รวมถึงจัดทำวิจัยเพื่อผลักดันให้เป็นนโยบายทางการศึกษาและแนวปฏิบัติเป็นที่ยอมรับ ผลการดำเนินงานและข้อค้นพบที่ได้จากโครงการฯ จะถูกรวบรวมส่งต่อไปยังผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติอาเซียน หรือ SEAMEO Congress ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีหน้า
ขณะที่นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการต่อยอดความสำเร็จของโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ดำเนินงานรูปแบบรัฐร่วมเอกชน ภายใต้ระยะเวลา 7 ปี (พ.ศ. 2558 – 2565) ด้วยงบประมาณกว่า 1,160 ล้านบาท ซึ่งการร่วมมือกับศูนย์ SEAMEO STEM-ED ช่วยย้ำว่าสะเต็มศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญที่ต้องต่อยอดสู่ระดับนโยบายแต่ละประเทศ การดำเนินโครงการฯ ระยะ 2 ยังให้ความสำคัญกับการ Upskill และ Reskill เพื่อส่งเสริมวิชาชีพด้านสะเต็มให้เยาวชน ด้วย Career Academies ที่นำโมเดลจากต่างประเทศ มาปรับใช้เข้ากับประเทศไทย คาดจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาคน ที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกธุรกิจหลังวิกฤตโควิด-19 โดยได้มีการนำเสนอภาครัฐเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการร่วมกันต่อไป.-สำนักข่าวไทย