กทม. 28 ส.ค. – หลังจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเริ่มมีความเห็นคล้อยตามตามกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากมาตรา 256 แต่มีข้อเสนอเรื่องการปิดสวิตช์ ส.ว.ตามมา แนวทางนี้เป็นไปได้หรือไม่ ติดตามจากรายงาน
ข้อเสนอปิดสวิตช์ ส.ว. ที่เสนอเข้ามา หลักการคือ ให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาลได้เอง ไม่จำเป็นต้องอาศัย ส.ว. เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดให้ ส.ว. มีบทบาทสำคัญในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี 5 ปีแรก ทั้งกำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ทั้งในวาระ 1 และวาระ 3 ข้อกำหนดเหล่านี้ถูกมองไม่เป็นธรรม รัฐบาลได้เปรียบ
กรรมาธิการที่ศึกษาปัญหารัฐธรรมนูญมีความเห็นทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งกรรมาธิการฯ ทำข้อสรุปและเหตุผลประกอบเสนอสภา โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เห็นว่าอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญยังควรคงไว้ให้ ส.ว. และทุกภาคส่วนและประชาชนมีส่วนแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวมองว่าจะมีหรือไม่ก็ได้ เพราะสิ่งสำคัญคือคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีต้องบริหารประเทศได้
นักวิชาการมองว่า โอกาสปิดสวิตช์ ส.ว. เป็นไปได้ยากที่ ส.ว.จะสนับสนุนให้ยุบตัวเอง แต่หากจะลดอำนาจบางส่วนพอจะมีความเป็นไปได้
ด้าน ส.ว.ยืนยันไม่ติดใจ หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปิดสวิตช์อำนาจ ส.ว.แต่ต้องยอมรับความจริงว่า เบื้องต้นการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. 1 ใน 3 ในการลงมติ ซึ่งไม่มีใครสามารถตอบแทนใครได้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ และตามหลักการแก้ไขกฎหมาย ควรแก้ในจุดที่เห็นว่าเป็นปัญหาเรื่องเดียวกัน จะทำให้เดินหน้าไปได้ง่ายกว่า เพราะแม้จะมี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ใช่ว่าจะถูกใจทุกคนและทุกเรื่อง
แม้มี ส.ว.บางส่วนเห็นด้วย แต่โอกาสที่จะปิด สวิตช์ ส.ว.กว่าจะถึงเป้าหมายหนทางยังยาวไกล. – สำนักข่าวไทย