กรุงเทพฯ 14 ส.ค.- รมว.มหาดไทย เปิดอบรมโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ “โคก หนอง นา” โมเดล หวังเป็นแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ระบุ หากไม่มีวัคซีน ต้องปรับเปลี่ยนกลไกเศรษฐกิจ มุ่งเน้นผลผลิตทางการเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร พร้อมขอบคุณผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ร่วมกันคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอบรม ประชุมเชิงปฎิบัติการ สร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” โมเดล มี นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้บริการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ร่วมการอบรมในครั้งนี้
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า โครงการนี้ถือเป็นความสร้างความมั่นคงและปลอดภัยทางอาหาร มีความจำเป็นสำคัญต่อชีวิตของทุกคน ที่สำคัญยังนำมาใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมพัฒนา นำไปสู่การแบ่งปันช่วยเหลือ และรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร สร้างความเข้มแข็งในชุมชน โครงการนี้เป็นแนวทางที่ดี ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หลังสถานการณ์โควิด-19 นอกจากจะทำให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ พัฒนา และพึ่งพาตนเองให้อยู่ได้ ยังเป็นการกระตุ้นฐานรากด้วย
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า โครงการนี้ใช้งบเงินกู้ กว่า 4,787 ล้านบาท ลงไปสู่ระดับตำบล 3,246 ตำบล ประชาชน 24,842 ครัวเรือน โดยเน้นย้ำเรื่องการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใส ไม่มีการเมืองเข้ามาแทรก เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เกิดขึ้นในชุมชุม และให้ผู้ว่าฯ พิจารณาตรวจสอบ ใช้หลักวิชาการให้ดี ต้องไม่มีข้อครหา
“ขอบคุณผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่ดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น อาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายท้องถิ่น และภาคประชาชน” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า หากมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะเป็นเรื่องดี ที่จะเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยว ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิมได้ แต่หากไม่มีวัคซีน กลไกลเศรษฐกิจของประเทศก็ต้องเปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นการท่องเที่ยว จะต้องกลับมามุ่งเน้นด้านผลผลิตทางการเกษตร และความมั่นคงทางด้านอาหาร ดังนั้นระหว่างนี้จึงต้องสร้างการรับรู้กับประชาชน
พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวถึง แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ที่ให้มีการตั้งคระกรรมการระดับจังหวัด และทีมที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ว่า วัตถุประสงค์หลักของนายกรัฐมนตรี คือ เพื่อให้การขับเคลื่อนงานโครงการต่างๆ เดินไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยกลไกลของจังหวัด ทีมที่ปรึกษาระดับจังหวัดมาจากคนที่มีความรู้ความสามารถในการทำงาน เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ปราชญ์ชาวบ้าน และนักธุรกิจ ภาคประชาชน ขณะเดียวกัน คณะกรรมการระดับจังหวัด จะมีพื้นที่ให้รัฐมนตรีกำกับดูแลรับผิดชอบ คนละ 2-3 จังหวัด เพื่อกำกับการดูงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เป็นไปตามความต้องการของประชาชน .- สำนักข่าวไทย