รัฐสภา 10 ส.ค. –กรรมาธิการงบฯ 64 พิจารณาเสร็จแล้ว 13 กระทรวงจาก 20 กระทรวง ห่วงเรื่องของบผิดไปใช้วัตถุประสงค์ ขณะก.แรงงานยันมีเงินพอเยียวยาโควิด
น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี พร้อมด้วยน.ส.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล โฆษกกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 สภาผู้แทนราษฎร แถลงความคืบหน้าการประชุมคณะกรรมาธิการ โดยน.ส.วทันยา กล่าวว่า ขณะนี้กรรมาธิการพิจารณาไปแล้ว 13 กระทรวง 1 กลุ่มหน่วยงานและ 11 กองทุน จากทั้งสิน 20 กระทรวง 9 กลุ่มงาน 26 กองทุนและ 14 แผนบูรณาการ โดยกระทรวงสำคัญที่พิจารณาเสร็จแล้ว อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงแรงงาน
น.ส.วทันยา กล่าวว่า สำหรับการพิจารณางบประมาณภาพรวมในส่วนของกระทรวงแรงงาน จัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 69,838,179,100 บาท โดยกรรมาธิการแสดงความเป็นห่วงเรื่องงบประมาณของกองทุนประกันสังคมที่ต้องจ่ายเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจากคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ย้ำว่า ขณะนี้ เพียงพอจ่ายให้กับลูกจ้าง พนักงานทั้งที่ถูกเลิกจ้างหรือสมัครใจลาออก ซึ่งขณะนี้ได้ใช้จ่ายเงินจากองทุนนี้ไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินจ่ายสมทบประกันสังคมที่มาตรการลดเงินสมทบสิ้นสุดไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรรมาธิการได้รับข้อมูลว่าขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ลดการจ่ายเงินสมทบเข้าเป็นครั้งที่ 2 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน
น.ส.พิมพ์รพี กล่าวว่า การพิจารณางบประมาณขององค์กรปกครองท้องถิ่นครั้งนี้ กรรมาธิการให้ความสำคัญกับงบประมาณรายจังหวัดที่ใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ โดยงบประมาณไปก่อสร้างถนนในหลายจังหวัด ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของการจัดสรรงบประมาณ กรรมาธิการจึงเสนอแนะว่างบของจังหวัดที่จะนำไปสร้างถนน เป็นงบตามภารกิจของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมอยู่แล้ว จึงเห็นว่า เป็นการใช้งบประมาณผิดวัตถุประสงค์ และเห็นว่าการสร้างถนนในระยะสั้นเพียง 1 – 2 กิโลเมตร แต่ใช้งบประมาณถึง 50 ล้านบาทมากเกินไป โดยเห็นว่าการขอรับงบประมาณของจังหวัดไปสร้างถนนที่ไม่มีเจ้าภาพเป็นผู้ดูแล หรือไม่มีงบประมาณดำเนินการ หรือสร้างถนนที่ใช้ในการท่องเที่ยวเพื่อการค้าในเส้นทางสายรอง ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทราบดีว่าควรสร้างที่ใด
“ส่วนการพิจารณางบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการท้องถิ่น โดยเฉพาะเทศบาลต่าง ๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบที่เกี่ยวกับการบริการสาธารณะด้านการศึกษาเช่น สนับสนุนอาหารกลางวันและนมให้นักเรียน การจัดบริการด้านสังคม เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและผู้พิการที่ประชุมได้มอบให้สำนักงบประมาณและอนุกรรมาธิการท้องถิ่นฯไปพิจารณา” น.ส.พิมพ์รพี กล่าว.-สำนักข่าวไทย