กรุงเทพฯ 25 ก.ย.-“มาดามเดียร์” ห่วงรัฐบาลใช้งบ 5.6 แสนล้านบาท กระทบเสถียรภาพทางการคลังหรือไม่ ประโยชน์เกิดกับผู้ประกอบการหรือเจ้าสัว จี้ตอบ 6 คำถามให้ชัด คนไทยได้อะไรจากดิจิทัลวอลเล็ต
น.ส.วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘เดียร์ วทันยา บุนนาค‘ และทวิตเตอร์ ‘Watanya Bunnag’ ตั้งคำถามถึงรัฐบาลและคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่คาดว่าจะเสนอแต่งตั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พรุ่งนี้(26 ก.ย.) ถึงความคุ้มค่าการใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท ความชัดเจนในการให้เงิน การใช้จ่าย การดำเนินการตรวจสอบ รวมไปถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ จำนวน 6 คำถาม โดยมีเนื้อหาดังนี้ คนไทยจะได้อะไรจากงบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาทที่จะใช้กับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต??
เราน่าจะได้เห็นทิศทางของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เร็วๆ นี้ ผ่านการประชุม ครม. และตั้งคณะกรรมการเพื่อวางกรอบนโยบาย การทำงาน การตรวจสอบ และการประเมินผล ในวันอังคารนี้ ในฐานะประชาชนที่เสียภาษี ขอฝากคำถามและความเป็นห่วงต่อการใช้งบประมาณแผ่นดินไปยังรัฐบาลและคณะกรรมการ 6 ข้อดังนี้ 1.เงินกว่า 5.6 แสนล้านบาทที่จะใช้ในการจัดทำนโยบายจะมาจากไหน? และรูปแบบของเงินพร้อมทั้งการใช้จ่ายจะเป็นระบบ Blockchain หรือจะ E-Money? จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาล นอกจากการให้สัมภาษณ์ของรมต.
2.ไม่ว่ารูปแบบเงินจะใช้เทคโนโลยีแบบไหน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องนำเงินงบประมาณมาเป็นทุนใช้จ่ายในโครงการ ดังนั้นนโยบายนี้จะส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาวหรือไม่? จะเป็นการเพิ่มภาระให้งบประมาณด้วยการเอาเงินอนาคตมาใช้ก่อน แล้วคนไทยต้องเผชิญกับความลำบากทีหลังหรือไม่? 3.นักวิชาการต่างดาหน้าออกมายืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่โครงการดังกล่าวจะเกิดการหมุนของเงินในระบบผ่านตัวทวีคูณของเงิน (Multiplier Effects) ถึง 6 รอบตามที่รัฐบาลคาดหวัง ดังนั้นรัฐบาลควรทบทวนว่าหากเงินในระบบไม่สามารถหมุนได้ครบ 6 รอบตามที่ตั้งเป้าไว้ การใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลยังคงคุ้มค่าที่จะดำเนินโครงการต่อหรือไม่?
“ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้เงินนั้นกระจายตัวไปยังผู้ประกอบการรายย่อยให้ได้มากกว่า #เจ้าสัว? และใครจะเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล? นั่นยังไม่นับรวมถึงกรณีประชาชนนำเงินไปใช้ใน Application ของสัญชาติต่างประเทศที่อาจทำให้สุดท้ายแล้วเงินงบประมาณที่มาจากภาษีคนไทยบางส่วนรั่วไหลออกไปภายนอก เงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถหมุนเวียนภายในประเทศอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย” น.ส.วทันยา ระบุ
4.รัฐบาลต้องไม่ลืมว่านอกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วนแล้ว สิ่งที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่คือปัญหาหนี้สินและค่าครองชีพที่พุ่งสูง แม้ว่าวันนี้รัฐบาลจะเร่งหาทางลดค่าครองชีพและแก้หนี้สินตามนโยบายที่เคยหาเสียงไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลต้องไม่ลืมคือ ประชาชนคาดหวังอยากเห็นรัฐบาลแก้ปัญหาต้นทุนค่าครองชีพที่ต้นตอ ยกตัวอย่าง ปัญหาค่าไฟฟ้า ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ลดค่าครองชีพของประชาชนในวันนี้ด้วยการนำเงินของอนาคตมาใช้ สุดท้ายประชาชนก็ยังคงเป็นคนที่ต้องแบกรับภาระเหมือนเดิมในขณะที่นายทุนพลังงานยังคงล่ำซำ รวยขึ้นทุกวัน?
5.รายละเอียดวิธีการใช้เงินไม่ว่าจะใช้ได้ครั้งละไม่เกินจำนวนเท่าไหร่? และอยู่ในรัศมี 4 กม. นับจากไหน? ตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านหรืออย่างไร? ในกรณีแรงงานพลัดถิ่นที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ การกลับไปใช้เงินในพื้นที่คงเป็นเรื่องที่ยากลำบาก อาจเปิดโอกาสให้เกิดการคอร์รัปชัน? 6.การตรวจสอบความโปร่งใสของโครงการนี้จะเป็นอย่างไร? หากมีการทุจริตเกิดขึ้น เช่น แลกเงินสด แลกสิทธิ์ ขายสิทธิ์ เป็นต้น
“ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่อยากถามแทนคนไทยทุกคน เพราะในช่วงที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยช้ากว่าหลายประเทศ แถมยังมีงบประมาณจำกัด หนี้สาธารณะสูงขึ้นจนจะชนเพดานเงินกู้ แต่คนไทยยังมีหนี้ครัวเรือนพุ่งสูงขึ้น พร้อมกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่นับวันยิ่งขยายห่างขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราใช้งบประมาณก้อนยักษ์ไปผิดทางหรือได้ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ความหวังในการพัฒนาเศรษฐกิจคงริบหรี่” น.ส.วทันยา ระบุ.-สำนักข่าวไทย