กรุงเทพฯ 10 ส.ค. – กรมชลฯ เผยน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทสูงถึงเกณฑ์ผลักดันเข้าระบบชลประทาน 2 ฝั่ง เกษตรกรภาคกลางเพาะปลูกข้าวได้ แต่ยังคงเน้นเก็บกักน้ำจากฝนที่ตกเหนือเขื่อนทั่วประเทศไว้ให้มากที่สุด
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ฝนที่ตกลงมาจากอิทธิพลของร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่านทางตอนบนของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 7 – 10 สิงหาคม ทำให้มีน้ำไหลเข้า 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ขณะนี้อ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักมีน้ำใช้การได้ 1,436 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 8% ของปริมาตรเก็บกักรวมทั้งหมด ทั้งนี้ ใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีน้ำไหลลงอ่างรวม 84.20 ล้าน ลบ.ม. ส่วนน้ำระบาย 7.03 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่วางไว้ คือ ให้เก็บกักน้ำให้มากที่สุดและระบายเพื่ออุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่าที่จำเป็น
สำหรับเขื่อนภูมิพลมีน้ำ 4,118 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31 % ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำ 3,756 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 39% ของความจุอ่าง เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนมีน้ำ 179 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 19% ของความจุอ่าง และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำ 79 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 8% ของความจุอ่าง ทั้ง 4 เขื่อนสามารถรับน้ำได้อีก 16,739 ล้าน ลบ.ม.
ส่วนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลมายังเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาตรเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่ไหลมาจากท้ายเขื่อนสิริกิติ์ เนื่องจากฝนตกลุ่มน้ำน่านชุกและต่อเนื่อง ล่าสุดวันนี้ (10 ส.ค.) ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +14.86 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ซึ่งเทียบกับเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ระดับน้ำหน้าเขื่อนอยู่ที่ +13.58 เมตร รทก. จึงสามารถผลักดันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาได้แล้ว สำหรับการบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อให้น้ำไหลผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) เข้าไปเลี้ยงพื้นที่เกษตรเป็นบริเวณกว้างทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำนั้น ระดับน้ำหน้าเขื่อนต้องสูงกว่า +14.00 เมตร รทก. ซึ่งสำนักงานชลประทานที่ 12 บริหารจัดการให้น้ำผ่าน ปตร.มโนรมย์ มหาราช มะขามเฒ่า-อู่ทอง พลเทพ และบรมธาตุ เพื่อให้เกษตรกรที่ยังไม่ได้ทำนาปรังสามารถเพาะปลูกได้ ส่วนปลูกแล้วจะมีน้ำเลี้ยงต้นข้าวจนให้ผลผลิตได้ ในลุ่มเจ้าพระยามีแผนเพาะปลูกข้าวนาปี 8.10 ล้านไร่ ซึ่งเพาะปลูกแล้ว 3.91 ล้านไร่ คิดเป็น 48% ของแผน คงเหลือที่จะเพาะปลูกอีก 4.19 ล้านไร่
ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุอ่างมี 20 แห่ง ได้แก่ ภูมิพล 2% สิริกิติ์ 10% แควน้อยบำรุงแดน 19% แม่มอก 21% ห้วยหลวง 23% น้ำพุง 20% อุบลรัตน์ 14% ลำปาว 29% ลำตะคอง 30% ลำพระเพลิง 29% มูลบน 18% ลำแชะ 15% ลำนางรอง 17% ป่าสักชลสิทธิ์ 8% ทับเสลา 19% กระเสียว 19% ขุนด่านปราการชล 29% คลองสียัด 12% บางพระ 15% และประแสร์ 22% โดยสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากฝนที่ตกกระจายในหลายพื้นที่ทำให้มีน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่าง ๆ เพิ่มขึ้น.-สำนักข่าวไทย