กทม. 31 ก.ค. – มีคำถามว่าอะไรทำให้ “บอส อยู่วิทยา” รอดทุกคดี มีมุมมองจากอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นธรรมดาที่ผู้ถูกกล่าวต้องทำทุกทางเพื่อให้รอดพ้นคดี ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องทำความจริงให้กระจ่าง ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงว่าทำไมทีมทนาย “บอส” จึงไปร้อง กมธ.ยุติธรรม สนช.
2 พยานบุคคลที่เป็นหลักฐานใหม่จนทำให้นายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา รอดทุกคดี คือคำให้การเรื่องความเร็วรถเฟอร์รารี่ที่บอสขับชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ว่าไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิมที่สำนวนแรกระบุความเร็วไว้ที่ 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนนำไปสู่การสั่งไม่ฟ้องของอัยการ ในข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ขณะที่ในชั้นสอบสวน มีประเด็นพบส่วนผสมสารเสพติดโคเคนในเลือดของบอส ที่อ้างถึงพยานซึ่งเป็นทันตแพทย์ยืนยันว่า สารที่ตรวจพบเป็นยาที่ใช้รักษาฟัน จนทำให้บอสไม่ถูกตั้งข้อหายาเสพติด รวมทั้งประเด็นเมาแล้วขับ ที่ถูกตัดทิ้งไปในชั้นสอบสวนเช่นกัน ที่มีการระบุว่าพนักงานสอบสวนไม่สามารถตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ทันทีหลังเกิดเหตุ กว่าจะตรวจได้ก็ผ่านไป 10 ชั่วโมง แม้จะยังพบปริมาณแอลกอฮฮล์เกิน แต่เจ้าตัวให้การว่าเป็นการเมาหลังขับ ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า การจะนำคดีตรวจสอบแอลกอฮอล์ขึ้นสู่ศาลได้ต้องตรวจวัดทันทีหลังเกิดเหตุ ทำให้ไม่สามารถเอาผิดได้
อาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ให้ข้อมูลว่า การขับรถเร็วเกินกำหนด ไม่ได้ถือว่าประมาทเสมอไป แต่ก็มีน้ำหนักมากต่อรูปคดี จึงมีการต่อสู้กันในประเด็นนี้อย่างหนัก รวมทั้งประเด็นสารเสพติด ก็มีผลต่อการพิจารณาโทษทั้งสิ้น ผู้ต้องหาต้องต่อสู้ทุกทางเพื่อให้พ้นข้อกล่าวหา จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้ความจริงกระจ่าง
นอกจากเรื่องพยานที่ยังต้องตรวจสอบกันต่อไป ยังมีข้อสังเกตจากอดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ว่า ทำไมทีมทนายของบอส เลือกที่จะไปร้องขอความเป็นธรรมกับคณะกรรมาธิการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ ของ สนช. ซึ่งไม่ใช่หน่วยงานที่เชี่ยวชาญโดยตรง จนนำไปสู่อัยการสูงสุด ขณะที่กรรมาธิการชุดที่รับเรื่องส่วนใหญ่เป็นนายตำรวจ และ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ผู้ตาย ก็เป็นตำรวจ หากจะทำให้เกิดความเป็นกลาง ควรส่งหน่วยงานกลางที่มีความเชี่ยวชาญตรวจสอบ
หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเห็นตรงกันว่า คดีนี้สั่นคลอนกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ หากพบพยานหลักฐานใหม่ก็ตรวจสอบดำเนินการได้อีก ตราบใดที่คดียังไม่หมดอายุความ. – สำนักข่าวไทย