กรุงเทพฯ 30 ก.ค.- รฟม. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) คืบหน้า 64.21%
นายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อมด้วย คณะกรรมการตรวจการจ้าง รฟม. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุง สถานีหัวหมาก สถานีคลองบ้านม้า บริเวณทางวิ่งใต้ดินสู่ทางวิ่งยกระดับ (Transition Structures) และสถานีน้อมเกล้า
อย่างไรก็ตามปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ มีความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธา ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 คิดเป็น 64.21% มีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2567
ทั้งนี้ในส่วนของบริษัทเอกชนสนใจซื้อเอกสารข้อเสนอฯ สายสีส้มฯ มีทั้งสิ้น 10 ราย ได้แก่ 1.บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) 8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 9. ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด และ10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost ในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดย รฟม. ลงทุนด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งโครงการฯ รวมทั้งดำเนินการก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันออก (สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – สถานีสุวินทวงศ์) และผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้ลงทุนงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธาโครงการฯ ส่วนตะวันตก (สถานีบางขุนนนท์ – สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) รวมถึงงานออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้า รวมทั้งงานให้บริการการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษาตลอดทั้งเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
รายงานข่าวแจ้งว่าโครงการดังกล่าวมีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และ สถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) . – สำนักข่าวไทย