หนานหนิง 8 ก.ย. – งานก่อสร้างโครงการ “คลองขนส่งผิงลู่” เส้นทางโลจิสติกแห่งอนาคต เชื่อมต่อจีนตะวันตกกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก คืบหน้าเกินครึ่งทางแล้ว ก่อนเปิดทดลองใช้งานในอีก 2 ปีข้างหน้า
คลองขนส่งผิงลู่ (Pinglu Canal) ในพื้นที่เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ภาคใต้ของจีน เริ่มดำเนินการขุดพื้นที่เพื่อการก่อสร้าง รวมทั้งสร้างระบบนิเวศน์โดยรอบมาตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2565 ด้วยมูลค่าการลงทุน 72,700 ล้านหยวน หรือประมาณ 343,849 ล้านบาท เป็นโครงการที่รัฐบาลเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ระหว่าง พ.ศ. 2564-2568 และแผนแม่บทระเบียงการค้าเชื่อมพื้นที่บกกับทะเลแห่งภาคตะวันตก (New Western Land and Sea Corridor – NWLSC)
คลองขนส่งผิงลู่ มีระยะทาง 134.2 กิโลเมตร เชื่อมต่อพื้นที่ตั้งแต่อำเภอเหินโจว ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ยาวมาจนถึงเมืองชินโจว ซึ่งเป็นพื้นที่ปากอ่าวเป่ยปู้ หรืออ่าวตังเกี๋ย ตลอดเส้นทางคลองขนส่งมีประตูเรือสัญจร 3 แห่ง เพื่อผันน้ำเข้าจากแม่น้ำสายต่าง ๆ มากกว่า 3 สาย เช่น แม่น้ำเฉียนเจียง แม่น้ำซีเจียง และแม่น้ำเหลี่ยวเจียง ประตูเรือสัญจรดังกล่าวเป็นเส้นทาง 2 เลน เรือขนาดระวางขับน้ำ 5,000 ตัน เดินเรือสวนกันได้ฝั่งละ 6 ลำ ตลอดระยะทาง 134.2 กิโลเมตร ตามคลองเส้นนี้ ใช้เวลาการเดินเรือจากต้นทางถึงปลายทางราว 15-17 ชั่วโมง
ปัจจุบัน งานขุดดินและหินในโครงการคลองขนส่งผิงลู่ คืบหน้าไปแล้ว 53.2% ใช้คนงานในโครงการทั้งหมดเกือบ 20,000 คน นายหยวน เผิง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม กลุ่มบริษัท Pinglu Canal จำกัด เผยว่างานก่อสร้างคลองขนส่งผิงลู่ ซึ่งเป็นการพัฒนาโดยมันสมองของคนจีนล้วน มีความแตกต่างไปจากการขุดคลองปานามา และคลองสุเอซ ทั้งในแง่ลักษณะทางภูมิศาสตร์ การใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการคำนึงถึงประเด็นอนุรักษ์ธรรมชาติ โครงการนี้มีกำหนดจะแล้วเสร็จ ในพ.ศ. 2569 และจะเปิดทดลองใช้ในเดือนธันวาคม 2569 คาดว่าใน พ.ศ. 2578 ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านคลองผิงลู่ จะเพิ่มขึ้นได้ถึง 95 ล้านตัน และจะเพิ่มได้มากถึง 150 ล้านตัน ใน พ.ศ.2593
แต่เดิม การขนส่งสินค้าระหว่างจีนกับต่างประเทศ ต้องใช้เส้นทางอ้อมไปยังมณฑลกว่างตุ้ง ทางทิศตะวันออก ดังนั้น การเปิดโครงการคลองขนส่งผิงลู่ ไม่เพียงแต่จะช่วยย่นระยะทางการลำเลียงสินค้าของจีนไปยังต่างประเทศได้มากถึง 600 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ยังจะช่วยเปิดโอกาสให้สินค้าเกษตรจากไทย เข้าไปยังประเทศจีนได้ในปริมาณมากขึ้น ผ่านคลองผิงลู่ เข้าสู่หนานหนิง ก่อนจะกระจายสินค้าโดยทางรถไฟไปยังพื้นที่ตอนกลางของจีน เช่น มณฑลเสฉวน และนครฉงชิ่ง.-810.-สำนักข่าวไทย