กรุงเทพฯ 20 ก.ค. – GPSC ตามติดยอดขายไฟฟ้าช่วงครึ่งปีหลัง ภายหลังครึ่งปีแรกลดลง พร้อมส่งเสริม เยาวชนประกวดนวัตกรรม เด็กไทยเจ๋งพัฒนาเเบตเตอรี่โดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ถูกฉายรังสี ผลิตจากข้าวเหนียว
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยว่า แนวโน้มยอดขายไฟฟ้าของบริษัทฯในช่วงครึ่งแรกของปีนี้คาดว่าจะไม่ลดลงมากนัก เนื่องจากธุรกิจของ GPSC เกี่ยวเนื่องกับสาธารณูปการ ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งเป็นสาธารณูปการที่มีความจำเป็น แม้ว่าในช่วงไตรมาส 2/2563 จะได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงในช่วงโควิด-19 บ้าง แต่ก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังคงจับตาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยเริ่มติดตามตั้งแต่ไตรมาส 3/2563 เป็นต้นไปว่าในกลุ่มลูกค้าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะลูกค้ายานยนต์ แต่ในกลุ่มผู้ผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ single-use plastic ไม่ได้ลดลงตามที่คาดการณ์ไว้
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ยังคงดำเนินการตามแผน มั่นใจว่าในช่วงปลายปีนี้จะสามารถผลิตแบตเตอรี่เซลล์แรกของมาได้
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา GPSC ได้ลงนามในสัญญาก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ Semi Solid กับทางบริษัท ไทยทากาซาโก จำกัด (Thai Takasago Co., Ltd.) ผู้รับเหมาก่อสร้างโรงงานที่มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่จากประเทศญี่ปุ่น มูลค่าสัญญา 295 ล้านบาท เมื่อรวมกับการลงทุนอื่น ๆ โครงการนี้จะมีมูลค่าโครงการกว่า 1,100 ล้านบาท โรงงานอยู่ในนิคมฯ มาบตาพุด จังหวัดระยอง นับเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกของประเทศไทยที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี Semi Solid ของบริษัท 24M Technologies จากสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทฯ ได้รับลิขสิทธิ์และจัดจำหน่ายในประเทศและภูมิภาค
โดยโรงงานต้นแบบจะเปิดดำเนินการผลิตภายในเดือนธันวาคม 2563 ระยะแรกจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ชั่วโมง และปีหน้าบริษัทฯมีแผนที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 100 เมกะวัตต์ชั่วโมง หลังจากนั้นจะพิจารณาความต้องการของตลาดจะพิจารณาสร้างโรงงานเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ต่อไป
นายชวลิต กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผานมา บริษัทฯ ได้ประกาศผลการคัดเลือกโครงงานเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ภายใต้แนวคิด “พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา (ปวช.) หรือเทียบเท่า ที่เข้ารอบ 5 โครงงานสุดท้าย ซึ่งจะได้รับประกาศนียบัตรและทุนการศึกษา รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านต่างๆ อาทิ การคิดค้นนวัตกรรมโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจดสิทธิบัตรและพัฒนาผลงานในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
โครงการ GPSC Young Social Innovator 2019 ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Better life battery โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จากผลงาน การพัฒนาเเบตเตอรี่โดยใช้ถ่านกัมมันต์ที่ถูกฉายรังสี ผลิตจากข้าวเหนียว ซึ่งผู้ที่ชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 50,000 บาท ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม ต้นกล้าเปลี่ยนโลก โรงเรียนปราจีนกัลยาณี จากผลงาน แคปซูลเก็บน้ำใต้ดินให้กับต้นกล้า ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 30,000 บาท ทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Fruit Guard โรงเรียนพนมสารคาม พนมอดุลวิทยา จากผลงาน ปลอกเทียมห่อผลไม้ ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 20,000 บาท
นอกจากนี้ทีมที่ได้รับรางวัลชมเชย ได้รับโล่รางวัลและทุนการศึกษา จำนวน 10,000 บาท ได้แก่ ทีม PM 4.0 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย มุกดาหาร จากผลงาน การพัฒนาไฮโดรเจลจากไคโตซานและพอลิไวนิล แอลกอฮอล์สำหรับอนุบาลเมล็ดพันธุ์พืช และทีม รักษ์โลก โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จากผลงาน การสังเคราะห์ขั้วไฟฟ้ากราฟีนออกไซด์ยึดติดด้วยอนุภาค นาโนเหล็กที่มี L-cysteine เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างกระแสไฟฟ้าของเซลล์ เชื้อเพลิงแบคทีเรีย โดย GPSC พร้อมที่จะสนับสนุนกลุ่มเยาวชนดังกล่าว ให้สามารถส่งผลงานไปแข่งขันในระดับเวทีนานาชาติด้านนวัตกรรมในต่างประเทศต่อไป . – สำนักข่าวไทย