กรุงเทพฯ 20 ก.ค. – ผู้ว่าฯ ธปท.ยืนยันเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจาก ไอเอ็มเอฟเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 พร้อมมองเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบเครื่องหมายถูกแต่หางยาว หลังเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาส 2
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาค ประจำปี 2563 หัวข้อ’ ‘ชวนคุยชวนคิด ปรับวิถีธุรกิจท้องถิ่นในโลกใหม่อย่างยั่งยืน” ว่า เศรษฐกิจไทยจุดต่ำสุดอยู่ในไตรมาส 2 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการล็อกดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจและจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 3 และกลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิดปลายปี 2564 โดยเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบเครื่องหมายถูกแต่หางยาว เพราะไทยพึ่งพาเศรษฐกิจจากต่างประเทศสูง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่คาดว่าอีกหลายปีกว่าจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าไทยถึง 40 ล้านคน รวมทั้งภาคการส่งออกที่คาดว่าจะใช้เวลานานกว่าจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับก่อนเกิดโควิด
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยอมรับว่าภาพเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้วิกฤติปี 2540 แต่ในส่วนของเศรษฐกิจมหภาคถือว่ามีความเข้มแข็งกว่าตอนวิกฤติปี 2540 โดยเฉพาะระบบสถาบันการเงินไทยที่มีสถานะเงินกองทุน มีสภาพคล่อง มีกันชนระดับสูง และไทยมีหนี้ต่างประเทศต่ำ ทำให้ธนาคารกลางสามารถใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อพยุงเศรษฐกิจไทยได้ พร้อมยืนยันไทยไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เหมือนตอนวิกฤติปี 2540
พร้อมแสดงความเป็นห่วงเรื่องปัญหาการว่างงานที่สุด เพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบแรงในภาคบริการและภาคการผลิต มองแม้โควิด-19 คลี่คลาย เชื่อว่าหลายคนจะไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในโลกยุคหลังโควิดได้ เพราะปัจจุบันทั่วโลกและไทยมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูง และภาคการผลิตจะถูกเปลี่ยนเป็นการผลิตที่เน้นคุณภาพ มีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้แทนคนมากขึ้น ขณะที่แรงงานภาคบริการและนักท่องเที่ยวกว่าจะกลับมาต้องใช้เวลาหลายปี แรงงานอายุมากขึ้น รวมทั้งเด็กจบใหม่ปีนี้หากยังหางานไม่ได้ภายใน 1-2 ปี ก็จะมีเด็กจบใหม่ใน 2 ปีข้างหน้ามาแทนที่
ทั้งนี้ ยอมรับว่าหลังโควิดตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่จะไม่สูงแบบก้าวกระโดด จากการใช้มาตรการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ แนะปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการออม เพราะเชื่อว่าแม้ผ่านวิกฤติโควิด-19 แล้ว ยังต้องเผชิญความเสี่ยงและความผันผวนอีกมากในอนาคต
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติให้สัมภาษณ์ภายหลังถึงกรณีเงินทุนไหลออก โดยระบุว่าไม่น่ากังวล เพราะไทยยังมีกันชนที่แข็งแรง เพราะมองว่าปีนี้ไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแม้จะลดลงจากปีก่อนก็ตาม นอกจากนี้สภาพคล่องของระบบสถาบันการเงินไทยยังอยู่ในระดับสูง ดังนั้น แม้มีเงินไหลออกก็จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ พร้อมเตือนระวังความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของโลกหลังโควิด-19 ที่เกิดสภาพคล่องสูงหลังหลายประเทศอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด แนะผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต.- สำนักข่าวไทย