กรุงเทพฯ 10 ก.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ย้ำดำเนินมาตรการควบคุมการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศอย่างเข้มงวด ต้องผ่านการตรวจรับรองสถานะโรค ความปลอดภัยอาหาร สถานที่ผลิต เพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์เข้าสู่ไทย
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า มอบหมายให้กองสารวัตรและกักกัน ด่านกักกันสัตว์ทั่วประเทศเข้มงวดในการป้องกันการลักลอบนำเข้าเนื้อสัตว์และซากสัตว์ทุกช่องทางทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ เพื่อป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่อาจแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศ ซึ่งการนำเข้าสินค้าปศุสัตว์จากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายนั้น ต้องได้รับการตรวจรับรองด้านความปลอดภัยอาหาร โรคระบาดสัตว์ ห้องปฏิบัติการหรือสถานที่ผลิตสินค้าปศุสัตว์
สำหรับการนำเข้าสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์สัตว์จากต่างประเทศ ประเทศผู้ส่งออกต้องส่งหนังสือแจ้งขอเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์ถึงอธิบดีกรมปศุสัตว์ โดยกรมปศุสัตว์จะจัดส่งแบบสอบถามให้ประเทศคู่ค้า พร้อมมีคณะกรรมการพิจารณาแบบสอบถามและประเมินความเสี่ยง ได้แก่ การทำงานของหน่วยงานสัตวแพทย์ การกำกับดูแลของภาครัฐ โรคระบาดสัตว์ ความปลอดภัยอาหาร และสถานที่ผลิตของประเทศผู้ส่งออก
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจประเมินแหล่งผลิต เพื่อรวบรวมข้อมูล โดยพิจารณาตามความเสี่ยง ความน่าเชื่อถือของระบบ และการกำกับดูแลของภาครัฐและภาคเอกชน และรวบรวมข้อมูลเสนอต่อด้านความปลอดภัยอาหารและประเมินความเสี่ยงสินค้าปศุสัตว์ หากผลการพิจารณาเป็นที่ยอมรับได้ ขั้นตอนต่อมาเป็นการพิจารณาร่างเงื่อนไขการนำเข้าและหนังสือรับรองสุขภาพสัตว์ (Health Certificate) เพื่อให้ประเทศผู้ส่งออกจัดส่งตัวอย่างลายเซ็น ร่างรูปแบบ Health Certificate พร้อมตราประทับ จากนั้นกรมปศุสัตว์จะประกาศรับรองให้ส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยได้
ปัจจุบันประเทศที่สามารถนำเข้าสินค้าปศุสัตว์มายังประเทศไทย เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา อาร์เจนติน่า เป็นต้น โดยกรมปศุสัตว์ตรวจรับรองแหล่งผลิตทุก 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีกว่า 20 ประเทศที่มีความสนใจต้องการส่งออกสินค้าปศุสัตว์มายังประเทศไทย โดยหลายประเทศเห็นศักยภาพของประเทศไทยว่าสามารถเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนได้ ซึ่งสินค้าปศุสัตว์ที่ต้องการนำเข้า ได้แก่ เนื้อโค เนื้อสุกร เนื้อไก่ เนื้อหมักเกลือ พาร์ม่าแฮม ซาลามี่ เป็นต้น
“กองสารวัตรและกักกันและทุกด่านกักกันสัตว์ท่าเข้าเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ทำให้มีโอกาสน้อยมากที่โรคระบาดสัตว์จากต่างประเทศจะระบาดเข้าไทย อีกยังเป็นการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยอาหารและสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคอีกด้วย” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว.-สำนักข่าวไทย