น่าน 25 ส.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์ ลงพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ประสบอุทกภัย พร้อมสั่งการปศุสัตว์จังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายด้านปศุสัตว์ ชี้แจงขั้นตอนการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง เน้นย้ำให้ดำเนินการด่วนที่สุดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ร่วมกับนายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เดินทางไปยังบ้านเจดีย์และบ้านดอนมูล ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมือง จังหวัดน่านเพื่อมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทานแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ รวมถึงให้กำลังใจเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย
พร้อมกันนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้สั่งการปศุสัตว์จังหวัดและปศุสัตว์อำเภอในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยเข้าเร่งสำรวจความเสียหายด้านปศุสัตว์ทั้งในช่วงเกิดภัยและภายหลังน้ำลด ตลอดจนชี้แจงขั้นตอนการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังซึ่งเน้นย้ำให้ดำเนินการโดยเร็ว นอกจากนี้ อธิบดีกรมปศุสัตว์ได้กำชับให้ส่งเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์เข้าไปดูแลสุขภาพสัตว์ รักษา เฝ้าระวัง และป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลังน้ำท่วม
ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์รายงานข้อมูล ณ วันที่ 24 สค 67 เวลา 18.00 น. เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ เฉพาะภาคเหนือ มีจังหวัดได้รับผลกระทบ 5 จังหวัดได้แก่ น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา และแพร่ จำนวน 34 อำเภอ 134 ตำบล 706 หมู่บ้าน เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ 34,083 ราย มีสัตว์ในพื้นที่น้ำท่วม 2,010,267 ตัว แบ่งเป็น โค 41,659 ตัว กระบือ 7,567 ตัว สุกร 14,842 ตัว แพะ/แกะ 1,045 ตัว และ สัตว์ปีก 1,945,154 ตัว รวมถึงแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ 1,022 ไร่
สำหรับการช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ดำเนินการแล้ว มีดังนี้
- มอบพืชอาหารสัตว์ 66,515 กิโลกรัม
- อพยพสัตว์ 183,826 ตัว
- สนับสนุนชุดส่งเสริมสุขภาพสัตว์ 9,159 ชุด
- รักษาสัตว์ 76 ตัว
จากการสำรวจความเสียหายพบว่า มีสัตว์ตาย/สูญหายใน 4 จังหวัดได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน และพะเยา จำนวนรวม 2,876 ตัว ประกอบด้วย โค 29 ตัว กระบือ 14 ตัว สุกร 12 ตัว แพะ 60 ตัว และสัตว์ปีก 2,761 ตัว
ล่าสุดได้รับรายงานจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุโขทัยว่า เตรียมพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยด้านปศุสัตว์ในพื้นที่ โดยกำหนดจุดอพยพสัตว์และผู้ประสานงานช่วยเหลือ 63 แห่งซึ่งกระจายตามท้องที่อำเภอต่างๆ พร้อมทั้งจัดเตรียมคลังเสบียงอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์ จัดทีมหน่วยเคลื่อนที่เร็วระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวม 10 ชุด ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเตรียมพร้อมรับมือสม่ำเสมอ รวมถึงแนะนำให้ดูแลสุขภาพสัตว์ในช่วงน้ำท่วม
สำหรับหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ด้านปศุสัตว์ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 มีรายละเอียดดังนี้
- โคอายุน้อยกว่า 6 เดือน อัตราตัวละไม่เกิน 13,000 บาท อายุ 6 เดือนถึงหนึ่งปี 22,000 บาท อายุ 1-2 ปี 29,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 35,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5 ตัว
- กระบืออายุน้อยกว่า 6 เดือน อัตราตัวละไม่เกิน 15,000 บาท อายุ 6 เดือน -1 ปี 24,000 บาท อายุมากกว่า 1-2 ปี 32,000 บาท อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป 39,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 5 ตัว
- สุกรอายุ 1-30 วัน อัตราตัวละไม่เกิน 1,500 บาท อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 3,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 10 ตัว
- แพะ/แกะ อายุ 1-30 วัน อัตราตัวละไม่เกิน 1,500 บาท อายุมากกว่า 30 วันขึ้นไป 3,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 10 ตัว
- ไก่พื้นเมือง/ไก่งวง อายุ 1-21 วัน อัตราตัวละไม่เกิน 30 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 80 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 100 ตัว
- ไก่ไข่อายุ 1- 21 วัน อัตราตัวละไม่เกิน 30 บาท ไม่เกินรายละ 1000 ตัว อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 100 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
- ไก่เนื้ออายุ 1- 21 วัน อัตราไม่เกิน 20 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 50 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
- เป็ดไข่ อายุ 1- 21 วัน อัตราตัวละไม่เกิน 30 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 100 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
- เป็ดเนื้อเป็ด/เทศ อายุ 1-21วัน อัตราตัวละไม่เกิน 30 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 80 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
- นกกระทา อายุ 1-21 วัน อัตราตัวละไม่เกิน 10 บาท อายุมากกว่า 21 วันขึ้นไป 30 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 1,000 ตัว
- นกกระจอกเทศ อัตราตัวละไม่เกิน 2,000 บาท โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 10 ตัว
- ห่าน อัตราตัวละไม่เกิน 100 บาท ไม่เกิน โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 300 ตัว
- แปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์ อัตราไม่เกิน 1,980 บาท/ไร่ โดยช่วยเหลือไม่เกินรายละ 30 ไร่
ทั้งนี้เกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถติดต่อประสานขอความช่วยเหลือจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ (ศปภ.ปศ.) กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร.02-6534553 02-6534444 ต่อ 3315 อีเมล์ disaster@dld.go.th หรือแจ้งข้อมูลในแอพพลิเคชั่น DLD 4.0 เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันที.-512-สำนักข่าวไทย