เสนอรัฐปรับแผนซื้อโซลาร์ภาคประชาชนอัตราเดียวกับราคา กฟผ.

กรุงเทพฯ 8 ก.ค. – เอสพีซีจี ผู้ประกอบการธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทน เสนอรัฐปรับแผนสนับสนุนโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนให้เพิ่มเงินอุดหนุนมากกว่าอัตราซื้อไฟฟ้า กฟผ. ยอมรับโควิด-19 กระทบแผนติดตั้งโซลาร์ภาคอุตฯ แนะรัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมีโอกาสฉุดจีดีพีไทยปีนี้หดตัวกว่าร้อยละ 10   



นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.เอสพีซีจี (SPCG) กล่าวว่า เห็นด้วยที่กระทรวงพลังงานกำลังปรับปรุงแผนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านประชาชน หรือโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชน เพราะที่ผ่านมาอัตราการรับซื้อโดยให้อัตราอุดหนุน FIT เพียง 1.68 บาท/หน่วย ไม่จูงใจ จะเห็นได้ว่าปี 2562 ประกาศรับซื้อ 100 เมกะวัตต์ ประชาชนเข้าร่วมโครงการไม่ถึง 2 เมกะวัตต์ โดยแนวทางการปรับควรกำหนดอัตราอุดหนุนรับซื้อที่มากกว่าราคาที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ประมาณ 3 บาท/หน่วย ซึ่งเรื่องนี้มั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) ของประชาชนทั่วไป เพราะปริมาณรับซื้อแต่ละปีน้อยมาก เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ โดยร่างปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2018 ร่างฉบับปรับปรุง) ที่กำลังเตรียมเสนอ ครม.นั้น ระบุจะรับซื้อ 50 เมกะวัตต์/ปี เป็นเวลา 5 ปี และต้องส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานให้การรับซื้อไฟฟ้า ส่วนเกินในระบบ net metering ไม่เกิดปัญหา


“อัตรารับซื้อจากโซลาร์ภาคประชาชนควรซื้อในอัตราเท่าหรือมากกว่าอัตราที่ภาคประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้า ไม่กระทบค่าไฟฟ้าโดยรวม เพราะไม่ได้ซื้อจำนวนมาก  และยังเป็นการสนับสนุนให้เจ้าของบ้านครัวเรือน มาลงทุนช่วยประเทศช่วยสร้างมั่นคงพลังงานสะอาดจากหลังคาที่ไม่ได้มาจากโครงการขนาดใหญ่ ที่มาจากเขื่อน หรือแก๊สที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างไฟฟ้าจากบ้านของเราเอง จึงควรเป็นอัตราจูงใจ” นางวันดี กล่าว 

นางวันดี ยอมรับว่า ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบเศรษฐกิจ ทำให้ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปชะลอการตัดสินใจลงทุน บริษัทจึงปรับแผนลงทุนเหมือนกับบริษัททั่วไป โดยลดค่าใช้จ่ายปีนี้ประมาณ 300 ล้านบาท พร้อมกับดูแลเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า เพื่อรักษาระดับอัตรากำไรสุทธิประมาณร้อยละ 51 เหมือนปัจจุบัน ปรับลดเป้าหมายรายได้ปีนี้เหลือไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาท จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ระดับ 6,700 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 5,250 ล้านบาท  โดยส่วนตัวประเมินว่าโควิด-19 มีโอกาสที่จะฉุดให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยปีนี้ติดลบถึงร้อยละ 10 และหากรัฐบาลไม่ออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมก็อาจจะหดตัวเป็นร้อยละ 12 โดยประมาณการดังกล่าวนับเป็นการมองเศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินไว้ที่ร้อยละ 8.1 ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในแง่การลงทุนบริษัทยังเดินหน้าตามแผนทั้งในและต่างประเทศ เพราะโอกาสจากผลกระทบทางเศรษฐกิจก็มีมากขึ้นจากที่มีหลายกิจการขายหุ้นหรือโครงการลงทุน เช่น โครงการโซลาร์ในญี่ปุ่น ดังนั้น บริษัทได้เพิ่มเป้าหมายจะใช้เงินลงทุนจาก 4,000 ล้านบาท เป็นไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยในส่วนนี้ยังเป็นการรองรับดีลร่วมทุนธุรกิจรูปแบบใหม่เป็นนวัตกรรม คาดว่าจะเปิดตัวในช่วง 2 เดือนข้างหน้า ล่าสุดบริษัทได้เจรจาร่วมทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นอีก 65 เมกะวัตต์ ทำให้คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในมือเกิน 500 เมกะวัตต์ จากระดับ 360-370 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน โดยมีเป้าหมายระยะยาวปี 2580 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) เพิ่มเป็น 3,000 เมกะวัตต์  พร้อมกันนี้เตรียมรุกงานติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟ) ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ภายใต้รูปแบบ Private PPA ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณงานในมือที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10-20 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 400-500 ล้านบาท


ปัจจุบัน SPCG มีกลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ โครงการโซลาร์ฟาร์ม แบ่งเป็น โครงการในไทย 36 แห่ง กำลังการผลิตรวม 260 เมกะวัตต์ ,โซลาร์ฟาร์ม Tottori Yonago Mega Solar ในญี่ปุ่น กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว และโซลาร์ฟาร์ม Ukujima Mega Solar Project ในญี่ปุ่น กำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างก่อสร้างคาดว่าจะเสร็จปี 2566, โครงการโซลาร์รูฟ ภายใต้บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด (SPR)  ซึ่งเน้นโซลาร์รูฟบนที่พักอาศัยและตลาดเชิงพาณิชย์ ติดตั้งไปกว่า 20 เมกะวัตต์ และยังมีบริษัทร่วมทุน MSEK Power โดยมี Mitsubishi UFJ Lease & Finance Company Limited (MUL) บริษัทการเงินใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 58 โดย MSEK จะรุกตลาดกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรม ปัจจุบันมีงานในมือรวม 15-20 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่า 400-500 ล้านบาท และมีแนวโน้มจะได้งานมากขึ้น เพราะ MUL มีฐานลูกค้าญี่ปุ่นในมือค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันการรับงานอาจชะลอไปบ้างหลังเผชิญสถานการณ์โควิด นอกจากนี้ SPCG ยังมีบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจเป็นผู้แทนจำหน่ายและผู้ให้บริการ เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) อย่างเป็นทางการ ของ SMA จากประเทศเยอรมนี และบริษัท สตีลรูฟ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านหลังคาเหล็กชั้นนำ.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง