กรุงเทพฯ 26 พ.ย. – เดลต้าขยายติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป คุ้มทุน 4.5 ปี ด้านโซลาร์ภาคประชาชนสนใจน้อยไม่ถึง 5 เมกะวัตต์ ภาครัฐจ่อทบทวน
นายสุรีย์ จรูญศักดิ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ พพ.อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่จะเร่งสรุปแนวทางการทบทวนโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่ได้นำร่องรับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากการใช้จำนวน 100 เมกะวัตต์ในปี 2562 ว่าสาเหตุใดประชาชนจึงให้ความสนใจต่ำกว่าที่คาดไว้ ซึ่งคาดว่าจะสรุปแนวทางได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนถึงทิศทางดำเนินงานปี 2563
สำหรับโครงการนี้มุ่งเน้นการผลิตเองใช้เองเป็นหลัก ส่วนเหลือรัฐรับซื้อในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วย ซึ่งขณะนี้ประชาชนยื่นแสดงความสนใจเพียง 4.85 เมกะวัตต์ จากประกาศรับซื้อปี 2562 ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561-2580 (พีดีพี 2018) กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2580
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ประกอบการและภาคธุรกิจเริ่มหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อใช้เองในการลดค่าใช้จ่ายมากขึ้น กรณีที่ พพ.มาศึกษาดูงานล่าสุดของเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)ที่ติดตั้งในการประหยัดค่าไฟมีความคุ้มค่าอย่างมาก ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ยังสามารถนำเงินลงทุนร้อยละ 50 ขอลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้เป็นเวลา 3 ปี จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้อีกด้วย
ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจในการลงทุน เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในโรงงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ พพ.และกระทรวงพลังงาน ที่มีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการด้านพลังงานภายในสถานประกอบการ เพื่อการผลิตไฟฟ้าใช้เองได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในสถานประกอบการ สำนักงาน อาคารธุรกิจ และโรงงาน
นายปิติสุข จิตเกษม ผู้อำนวยจัดการทั่วไป บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตลอด 4 ปีของการลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในอาคารโรงงานของเดลต้าฯ จำนวน 6.3 เมกะวัตต์ใช้เงินลงทุน 245 ล้านบาท สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้รวม 65 ล้านบาท หรือประหยัดต่อหน่วยได้ 15-17% จะคืนทุนได้ภายใน 4-4.5 ปี ซึ่งถือเป็นความคุ้มทุนและสิ้นปีนี้จะมีกำลังผลิตติดตั้งรวม 7 เมกะวัตต์.-สำนักข่าวไทย