กรุงเทพฯ 29 มิ.ย. – “สนธิรัตน์” หารือทุกภาคส่วน ปลดล็อก อุปสรรค โซลาร์ภาคประชาชน เร่งให้เกิดขึ้นภายใน 60 วัน 50 เมกะวัตต์ สร้างรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มการจ้างงาน ลดผลกระทบเศรษฐกิจจาก COVID- 19 มั่นใจ แผนปรับปรุงพีดีพี 2018 จะผ่าน ครม.พรุ่งนี้และเดินหน้า โรงไฟฟ้าชุมชนได้ทันที
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ ได้ประชุมบริหารจัดการโซลาร์ภาคประชาชนรูปแบบใหม่ ซึ่งมีตัวแทนหลายภาคส่วนเข้าหารือ เช่น นางสาวรสนา โตสิตระกูล นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยผู้เข้าร่วมหารือในวันนี้ นับเป็นทีมชาติในการทำงานแก้ไขปัญหาโซลาร์ภาคประชาชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์บนหลังคาบ้านเรือนประชาชน (โซลาร์รูฟท็อป) โดยปี 2562 มีการส่งเสริมติดตั้ง 100 เมกะวัตต์ แต่มีประชาชนเข้าร่วมโครงการติดตั้งเพียง 1.8 เมกะวัตต์ เท่านั้น ที่ประชุมจึงเห็นร่วมกันว่า ที่ผ่านมาการส่งเสริมอาจจะไม่สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนติดตั้ง
ดังนั้น ที่ประชุม จึงเห็นร่วมในการตั้งคณะทำงานร่วมปลดล็อกแก้ปัญหาทุกด้าน โดยนายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ในการร่วมแก้ไขปัญหา ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน เพื่อให้เดินหน้าติดตั้งได้ทันที เป้าหมาย ติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ภายในปี 63 ซึ่งเป็นไปตามกรอบการส่งเสริมโซลาร์ภาคประชาชนตามแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว ปี 2018 ฉบับปรุงปรุงครั้งที่ 1( ปี 2561-2580) ที่คาดว่าจะผ่านการประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ (30 มิ.ย.) ที่กำหนดให้ส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อป 5 ปีปีละ 50 เมกะวัตต์ อัตราสนับสนุน 1.68 บาท/หน่วย ซึ่งการจะแก้ไขให้ปริมาณรับซื้อและอัตราสนับสนุนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้น ก็ขอรอฟัง แนวทางแก้ไขปัญหาภาพรวมเสียก่อน
” พรุ่งนี้คาดว่า แผนพีดีพีฉบับปรับปรุงจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ซึ่งก็จะมีทั้งแผนโซลาร์รูฟท็อป แผนโรงไฟฟ้าชุมชน หากผ่านความเห็นชอบ ในวันที่ 1 ก.ค. กระทรวงพลังงานก็จะเปิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในส่วนควิกวิน 100 เมกะวัตต์ทันที และ หากข้อเสนอทีมชาติ โซลาร์รูฟท็อปเสนอจูงใจให้เกิดโซลาร์รูฟท็อปเป็นอย่างไรกระทรวงฯก็จะนำไปแก้ไขในแผนพีดีพีต่อไป” รมว.พลังงานกล่าว
นางรสนา กล่าวว่า ในส่วนของการส่งเสริมโซลาร์ภาคประชาชน จะเกิดผลดีรอบด้าน ทั้ง การใช้พลังงานสะอาด ลดค่าใช้จ่าย เสริมรายได้ประชาชนที่ติดตั้ง และยังก่อให้เกิดการจ้างงานแก่ นักศึกษา ปวช. ปวส.ที่จบมาจะได้ ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่ง ปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากหลายด้าน เช่น ระบบ NET METERING มีปัญหาดำเนินการไม่ได้ เพราะติดปัญหาด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม หากแก้ปัญหาได้ ก็จะทำให้ประชาชนที่ผลิตไฟฟ้านำมาหักลบกลบหนี้หน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากภาครัฐได้ ในขณะเดียวกัน ก็ขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบได้ด้วย ส่วนอัตราสนับสนุนที่กำหนดให้ FIT เพียง 1.68 บาท/หน่วย ก็เสนอว่าต่ำเกินไป ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สูงกว่านี้ ส่วนเรื่องการสนับสนุนเรื่องอื่นๆ ก็คงจะหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว. – สำนักข่าวไทย