นนทบุรี 6 ก.ค.-หมอยง ชวนคนหายป่วย โควิด-19 บริจาคพลาสมาทำเซรุ่มป้องกันเชื้อ หลังต่างประเทศใช้แล้วได้ผล เผยต้องหายป่วยไม่น้อยกว่า 14 วัน สามารถบริจาคได้ทุกๆ 2 สัปดาห์ รวม 6 ครั้ง
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวความคืบหน้าการใช้พลาสมาสร้างแอนตี้บอดี้ เพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์ของโรค ณ ขณะนี้ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่กลับมาระบาดอีก ที่สำคัญโรคนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ ที่ทุกคนยังไม่มีใครรู้วิธีการรักษา ยาที่ถูกนำมาใช้ก็ไม่ใช่ยาที่รักษาโรคโควิด-19 โดยตรง ไล่มาตั้งแต่ยาต้านมาลาเรีย ยาไฮดรอกซีคลอโรควิน ก็ไม่ได้ผลต้องยกเลิกไป
ก็เปลี่ยนเป็นสูตรยาต้านไวรัส HIV ร่วมกับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ก็ยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จนมาได้ยาที่มีคุณสมบัติ และเรียกได้ว่าเป็นยาที่ดีที่สุดในขณะนี้ที่เลือกใช้รักษาอาการผู้ป่วยโควิด คือ ยา “ฟาวิพิราเวียร์” ส่วนในฝากตะวันตก ตอนนี้มียาตัวใหม่ที่ชื่อว่า “เรมเดซิเวียร์” ที่ได้รับการระบุว่ามีคุณสมบัติรักษาอาการได้ดีกว่ายาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่สุดท้ายก็ต้องรอสรุปผล และรอขึ้นทะเบียนอยู่ดี
ในเมื่อยังไม่มียาที่มีประสิทธิภาพ ทางทีมวิจัย ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักอนามัย กทม. และ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย จึงได้ร่วมกันทดสอบเจาะเลือดผู้ป่วยที่หายจากโควิดแล้ว 300 คน เพื่อนำเอาเฉพาะน้ำเหลือง มาทำพลาสม่า โดยเม็ดเลือดแดง,ขาว และเกล็ดเลือดจะนำคืนเข้าร่างกาย พบว่าใน 300 คนมีเพียงแค่ 10 คนเท่านั้นที่ไม่พบภูมิต้านทานที่ร่างกายได้สร้างขึ้น
ซึ่งพลาสมาที่ได้หากมีจำนวนมากพอก็จะสามารถนำไปสกัดเป็นเซรุ่ม เพื่อใช้ฉีดป้องกันรักษาโควิด-19 ในอนาคต ได้เหมือนกับ ที่บ้านเรามีเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หรือ ไวรัสตับอักเสบ ขณะนี้มีอาสาสมัครประมาณ 150 คนมาบริจาคพลาสม่า ที่มีภูมิต้านทานสูง แล้วมากกว่า 250 ถุง โดยคนที่เคยป่วยแล้วหายสามารถบริจาคได้ทุกๆ 2 สัปดาห์ รวม 6 ครั้ง โดยพลาสมาที่ได้มาขณะนี้สามารถเก็บไว้ใช้รักษาผู้ป่วยได้ประมาณ 1 ปี ที่ผ่านมาในไทยเคยมีนำไปใช้รักษาอยู่ในบางกรณี แต่ก็ยังไม่ได้ผล เพราะนำไปรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เช่น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือใช้ปอดเทียม แต่กรณีล่าสุดที่ จ.สงขลา นำไปใช้กับผู้ป่วยที่อาการไม่หนักมาก กลับได้ผลดีจนน่าพอใจ
การรักษาด้วยพลาสมา ในอเมริกา มีการใช้รักษาแล้วมากกว่า 10,000 ถุง ในคนไข้ประมาณ 5,000 คน (ค่าเฉลี่ยคนป่วย 1 คนจะใช้ 1-2 ถุง) พบว่ามีความปลอดภัยสูงมาก อาการข้างเคียงไม่รุนแรง เหมือนกับผู้ที่รับบริจาคพลาสมาในกรณีอื่นๆ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโควิด-19 ที่ระหว่างรอวัคซีน
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ถ้ามีผู้มาบริจาคพลาสมาที่มีภูมิต้านทานมากกว่านี้ คือประมาณ 600-1,000 ถุง ศูนย์บริการโลหิตฯ จะสามารถนำมาทำเป็นเซรุ่มเข้มข้น บรรจุขวดและสามารถเก็บได้นานขึ้น เพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยในอนาคต แต่ต้องย้ำว่า พลาสมาเป็นการรักษาเพื่อให้ร่างกายสร้างแอนติบอดี้ในทางอ้อม ส่วนวัคซีนเป็นทางตรง แต่ระหว่างรอนี่คือความหวังที่สามารถสร้างให้เป็นจริงได้
จึงอยากจะเชิญชวนผู้ที่ผู้ป่วยโควิดและหายดีแล้วมาร่วมบริจาคพลาสมา โดยเกณฑ์เบื้องต้น คือ ต้องหายป่วยแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน และต้องตรวจหาเชื้อซ้ำ เพื่อแน่ใจว่าไม่มีโรคแล้ว อายุต้องเกิน 18 ปี แต่ต้องไม่เกิน 60 ปี คนนึงจะบริจาคประมาณ 500-600 ซีซี และจะแบ่งพลาสมาออกเป็น 2 ขนาด คือ ถุงละ 250 ซีซี ให้การรักษาสำหรับคนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 60 กิโลกรัม และอีกขนาดคือ ถุงละ 300 ซีซี ใช้รักษาผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 60 กิโลกรัม ปัจจุบันแม้จะมีพลาสมาเข้ามาเยอะแล้ว แต่ก็ยอมรับว่าใช้ในการรักษาน้อยมาก เพราะอัตราผู้ป่วยในประเทศมีจำนวนน้อย แต่ประเทศไทยยังต้องการพลาสมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพัฒนาระหว่างที่รอวัคซีนรักษา เพราะโรคนี้ไม่มีใครรู้ใครตอบได้ว่าเป็นแล้ว จะกลับมาเป็นอีกหรือไม่ ต้องรอติดตามสถานการณ์โรคอีก 1-2 ปี จึงจะมีคำตอบที่ชัดเจน.-สำนักข่าวไทย