สธ.17 มิ.ย.-ผอ.สถาบันกัลยาณ์ ยังไม่ทราบตำรวจส่งตัวหญิง 29 ปีก่อคดีปิตุฆาตมาสถาบันวันพรุ่งนี้ พร้อมแนะวิธีดูก่อเหตุเพราะป่วยจิตหรือจิตสารเสพติด ต้องอาศัยเวลาพิสูจน์ เพราะยาบ้าออกฤทธิ์ตกค้างในร่างกายได้นาน 3 วันแม้ตรวจปัสสาวะไม่เจอ เช่นเดียวกับกัญชาหลอนได้นาน 6 เดือน ส่วนคดีปิตุฆาตมาตุฆาตในสังคมเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ทั้งปมความคิด ความสัมพันธ์ครอบครัว หากป่วยแล้วก่อเหตุย่อมแยกไม่ได้ ใครพ่อใครแม่
นพ.ศรุตพันธุ์ จักรพันธุ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึงกรณีสาววัย 29 ปี ก่อคดีปิตุฆาต ว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทุ่งสองห้อง จะส่งตัวหญิงสาวคนดังกล่าวมาที่สถาบันกัลยาณ์ฯ หรือไม่ แต่เบื้องต้นต้องมีการพิสูจน์ว่าการก่อเหตุ เป็นเพราะจิตใจขณะนั้นปกติหรือไม่ หรือมีอาการทางจิตเภท เบื้องต้นทราบจากข้อมูลว่า หญิงสาวคนดังกล่าวเคยมีประวัติการใช้สารเสพติด ดังนั้น วิธีการแยกว่า ผู้ก่อเหตุในขณะนี้มีอาการทางจิตเกิดจากการใช้ยา หรือสารเสพติด ทำได้ แต่ต้องไม่อาศัยแค่การตรวจพิสูจน์จากการปัสสาวะเท่านั้น ต้องรวมกับการซักประวัติ และรอเพื่อติดตามผล เพราะในคนที่มีประวัติเสพยาบ้า แม้ตรวจไม่พบสารเสพติดในร่างกาย แต่ฤทธิ์ของยาบ้า จะคงอยู่ในร่างกายและก่ออาการหลอนหรือทางจิตได้นานถึง 3 วัน เช่นเดียวกับกัญชา ที่ละลายในไขมัน แม้ตรวจไม่เจอแต่ฤทธิ์ของกัญชาที่ทำให้เกิดอาการหลอนอยู่ได้นานถึง 6เดือน
ทั้งนี้ ต้องมีการพิสูจน์ให้ชัดเจน โดยข้อมูลกรมราชทัณฑ์พบว่า ในเรือนจำ จำนวนผู้ต้องขัง 300,000 คน มี ผู้ป่วยทางจิตต้องรับการรักษาในเรือนจำ 5,000 คน ส่วนผู้ป่วยทางจิตที่กระทำผิดและอยู่ในความดูแลของสถาบันกัลยาณ์ มีเฉลี่ยปีละ 200-300 คน
นพ.ศรุตพันธ์ กล่าวต่อไปว่า การพบคดีปิตุฆาตและมาตุฆาตบ่อยครั้งใน ช่วงนี้ ไม่สามารถประเมินได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ที่แต่ละวันมีประวัติ หรือปมทางใจที่แตกต่าง การเลี้ยงในครอบครัวก็มีส่วนสำคัญ ความใกล้ชิด สนิทสนมในครอบครัว ล้วนทำให้พฤติกรรมการแสดงออกของแต่ละครอบครัวแตกต่างกันไป กรณีที่ป่วยจิตเภทแล้วก่อเหตุรุนแรง แน่นอน ย่อมไม่สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน ว่าใครคือพ่อแม่ หรือลูก ปู่ย่าตายาย แต่ถ้าไม่ป่วยก็มีปัจจัยความใกล้ชิดเข้ามาเกี่ยวข้อง หากพ่อแม่ไม่ได้เลี้ยงดูสนิทสนม คนเลี้ยงแต่ปู่ย่าตายายลูกก็ก็ย่อมต้องสนิทกว่าเกรงใจ ปู่ย่าตายายมากกว่าพ่อแม่ เพราะลักษณะนี้พ่อแม่ก็เปรียบเหมือนกับคนอื่น
นพ.ศรุตพันธุ์ กล่าวอีกว่า วิธีการป้องกันความรุนแรงในครอบครัว สามารถเริ่มได้จากการยับยั้งชั่งใจเวลาโต้เถียงต้องตระหนักรู้ว่าเริ่มมีอารมณ์รุนแรงแล้ว ก็ควรสงบเตือนตัวเอง หรือการอยู่ร่วมกับคนอื่นก็ต้องตระหนักรู้และเคารพกฎกติกาการอยู่ร่วม ส่วนในเด็กวัยรุ่นพ่อแม่ครอบครัว ต้องเข้าใจวัยเปลี่ยนผ่าน 13-14 ปี อยากเป็นตัวของตัวเอง ต้องสร้างทางเลือกให้เด็ก แล้วให้มีส่วนเลือกเพราะดูไม่บังคับ แต่ก็อยู่ในสายตารู้ว่าทางเลือกที่เลือกเป็นอย่างไร เด็กก็ยังพอใจ ท้ายสุดได้เลือกเอง .-สำนักข่าวไทย