6 มิ.ย. – หลัง 18 กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐลาออก มีผลให้ต้องเลือกกรรมการบริหารชุดใหม่ นักวิเคราะห์หลายคน มองว่าเป้าหมายของการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ คงไม่เฉพาะการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเท่านั้น แต่อาจนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี ติดตามกับรายงาน
ค่อนข้างชัดเจนว่าเสียงส่วนใหญ่ในพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม 3 มิตรกลุ่มนายวิรัช รัตนเศรษฐ รวมถึงกลุ่ม กทม. สนับสนุนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นมานั่งหัวหน้าพรรค แทน นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และหากกลุ่ม 4 กุมารที่ต้องหลุดจากตำแหน่งในพรรค รวมถึงไม่ได้เป็น ส.ส. เป็นไปได้ว่าต้องมีการสลับสับเปลี่ยนเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรีของพลังประชารัฐ
แต่การคัดสรรคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มานั่งรัฐมนตรีคลังแทนนั้น นักวิชาการมองว่า เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะ ส.ส.ในพรรคไม่มีความสามารถเทียบเท่านายอุตตม ดังนั้นอาจผลักดันคนนอกที่สังคมยอมรับเข้ามาแทน แต่คนนอกจะเป็นลูกหม้อของนายสมคิดอีกหรือไม่นั้น ต้องดูว่าปรับ ครม.ครั้งนี้ นายสมคิดจะถูกปรับออกด้วยหรือไม่ ส่วนโควต้าเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคร่วมอย่างภูมิใจไทย น่าจะไม่กระทบ แม้จะดึง ส.ส.พรรคอื่นมาสมทบมากที่สุด แต่ที่น่ากังวลคือพรรคประชาธิปัตย์ อาจถูกขอคืน 1 เก้าอี้ รวมถึงพรรครวมพลังประชาชาติไทย และชาติพัฒนาที่น่ากลัวที่สุด แต่ขึ้นอยู่กับสายสัมพันธ์ทางการเมือง ที่นายกฯอาจรักษาน้ำใจด้วยการเปลี่ยนกระทรวง หรือเกลี่ยเก้าอี้ในพลังประชารัฐให้พรรคร่วมรัฐบาล
เช่นเดียวกับ อาจารย์สุขุม นวลสกุล ที่เชื่อว่า พรรคร่วมรัฐบาล ต้องถูกปรับ ครม.ด้วยอย่างแน่นอน เพราะแต่ละกลุ่มในพลังประชารัฐ ต่างจับจองกระทรวงที่ต้องการ มาตั้งแต่ฟอร์ม ครม. ครั้งแรกแล้ว
นักวิชาการยังมองว่า ความเข้มแข็งของกลุ่มสามมิตร ใน พปชร.ลดลง เก้าอี้อุตสาหกรรรมน่าจะถูกขอคืน ส่วนเก้าอี้ยุติธรรม อาจจะรักษาไว้ได้ ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ขอเวลา 6 เดือนไม่ย้ายกระทรวง เพื่อทำงานให้เป็นรูปธรรม
การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เป็นเรื่องธรรมชาติ โดยเฉพาะเมื่อมีแรงกระเพื่อมจากหลายกลุ่มในพรรค เปลี่ยนหัวหน้าพรรค ไม่เพียงโยงถึงเก้าอี้รัฐมนตรีเท่านั้น แต่ต้องทำอย่างไรเพื่อให้เสถียรภาพรัฐบาลมั่นคง .- สำนักข่าวไทย