พปชร. แถลงค้านกรอบ MOU 2544

รัฐสภา 30 ต.ค.-พปชร. แถลงค้านกรอบ MOU 2544 เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึก จี้นายกฯ ยกเลิกด่วน ก่อนเสียดินแดน โต้ “ภูมิธรรม” เกาะกูดอยู่ในใจกัมพูชา บอก “ลุงป้อม” เล่าเอง เจรจาทีไรพูดถึงทุกที จนต้องเลื่อนออกไป

พรรคพลังประชารัฐ นำโดย นายชัยมงคล ไชยรบ สส.สกลนคร พร้อมด้วย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานด้านวิชาการของพรรค และ หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหารพรรค ร่วมกันแถลงข่าวที่รัฐสภาคัดค้านการเจรจาผลประโยชน์ปิโตรเลียมในกรอบ MOU 2544


นายไชยมงคล กล่าวว่า จากการประชุมพรรคพลังประชารัฐ ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นประธาน ได้มีการหารือและถอดบทเรียนอย่างละเอียด กรณี MOU 2544 จึงมีความเห็นร่วมกันว่า MOU 2544 จะนำไปสู่การเสียดินแดนของคนไทย ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐ จึงขอแสดงจุดยืนว่า พรรคจะรักษาอธิปไตยของชาติ ไม่ยอมให้ผู้หนึ่งผู้ใด หรือกลุ่มใดมาแสวงหาผลประโยชน์ในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ หรืออาณาเขต โดยเตรียมเข้าชื่อ เพื่อทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้หยุดการเจรจาในการทำการแบ่งปันก๊าซปิโตรเลียม และน้ำมัน ให้กับกัมพูชา เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบ โดยจำเป็นต้องคุยเรื่องอาณาเขตให้ชัดเจนก่อน

ด้าน ธีระชัย กล่าวว่า ข้อความในเอกสาร  MOU 2544 ประกอบแผนที่แนบ แสดงว่า 2 ประเทศได้ยอมรับว่ามีพื้นที่พัฒนาร่วม เพื่อให้ทำการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียม แต่ขอบพื้นที่ดังกล่าวด้านทิศตะวันตก ใช้เส้นเขตแดนในทะเลที่ประกาศโดยกัมพูชา ปี 2515 โดยมีจุดตั้งต้นในเส้นที่พาดผ่านเกาะกูด เมื่อ ได้ตรวจสอบหลักฐานแล้ว พบว่าขัดกับสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ดังนั้น จึงมีความเห็นว่าพื้นที่พัฒนาร่วมตามที่ระบุใน MOU 2444 ขัดกับสนธิสัญญาฯ ย่อมทำให้เอกสาร MOU 2544 ทั้งฉบับผิดกฎหมาย


“ผมไม่ขัดข้องที่รัฐบาลจะเจรจาหาทางลงทุนร่วมกับกัมพูชา แต่ขัดข้องถ้าหากรัฐบาลจะใช้ MOU 2544 เป็นกรอบในการเจรจา เพราะนอกจากเห็นว่าผิดกฎหมายแล้ว ยังอาจจะทำให้ไทยเสียดินแดนอีกด้วย”

นายธีระชัย ยังย้ำว่า ถ้าหากกัมพูชายอมรับว่าไทยมีเอกสิทธิ์ในเกาะกูดอย่างสมบูรณ์แต่ผู้เดียวจริง กัมพูชาจะต้องยอมรับไทยลากเส้นห่างจากชายฝั่งของเกาะกูด 200 ไมล์ทะเล ตามกติกาสากล ไม่ใช่ลากเส้นพาดผ่านเกาะกูด ซึ่งการที่ใน MOU 2544 ไทยยอมรับเส้นพาดผ่านเกาะกูดนั้น ย่อมหมายความได้ว่าไทยยอมให้กัมพูชามีสิทธิ์ในเกาะกูดครึ่งหนึ่ง เป็นการทำให้ไทยเสียดินแดนชัดเจน

ส่วนกรณีที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม บอกว่าไม่ต้องห่วงเรื่อง MOU 2544 เพราะกัมพูชาไม่สนใจพื้นที่เกาะกูดนั้น นายธีระชัย บอกว่า พลเอก ประวิตร ได้เล่าให้ตนฟังว่า สมัยที่เป็นรองนายกฯ และเป็นประธานคณะกรรมการด้านเทคนิคฝ่ายไทย ในการเจรจากับกัมพูชา ซึ่งเจรจาไปได้ไม่นาน กัมพูชาก็พูดถึงเกาะกูดทุกครั้ง พลเอก ประวิตร จึงสั่งให้เลื่อนการเจรจาออกไป ทำให้การเจรจาไม่บรรลุผลสำเร็จ แต่เป็นที่ชัดเจนว่า เกาะกูดอยู่ในใจของกัมพูชาอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นเราต้องฝากความหวังไว้ที่ พลเอก ประวิตร เพื่อจะช่วยรักษาดินแดนของไทยเอาไว้


ขณะที่ หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ พูดถึงความแตกต่างที่ต้องระวังอย่างยิ่งของพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยเปรียบเทียบกับพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-มาเลเซีย กับ ไทย-เวียดนาม ที่สามารถปฏิบัติตามกฏหมายสากล แล้วยังมีพื้นที่ทับซ้อนกัน แต่ก็ได้เจรจา ในขณะที่ไทย-กัมพูชา มีการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลปี 2513 โดยไทยยึดมั่นตามอนุสัญญาเจนีวา 1958 ระหว่างเจรจา ฝ่ายกัมพูชาก็ประกาศเส้นเขตแดนในปี 2515 โดยไม่ได้เป็นไปตามกฏหมายสากลเพื่อรักษาสิทธิฝ่ายไทย จึงมีประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทย ฝั่งอ่าวไทยปี 2516 ทำให้เห็นได้ว่าเส้นที่ฝ่ายกัมพูชาประกาศไปนั้น เป็นการล่วงล้ำพระราชอาณาเขต ทำให้การเจรจายุติลง

แต่เพียง 2 เดือน ของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 รัฐบาลนำเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างเร่งรีบ เริ่มเจรจา 21 เมษายน 2544 และตกลงเซ็นเอ็มโอยู 2544 ในวันที่ 4 มิถุนายน 2544 รวมเวลาเจรจา 44 วัน โดยไทยเปลี่ยนท่าทีจากเดิม คือไม่รักษาสิทธิอันพึงมีของไทยตามกฎหมายสากล กลับยอมรับเส้นของกัมพูชาขีดทับอาณาเขตของราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรก จนเกิดพื้นที่ทับซ้อนที่ใหญ่โตมากถึง 26,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งที่พื้นที่นี้เดิมไม่มีกฎหมายรับรอง

ดังนั้นการที่รัฐบาลอ้างการพัฒนาปิโตรเลียมร่วมกัน บดบังสาระสำคัญที่ไทยเปลี่ยนสถานะจากผู้ที่เป็นฝ่ายถูก เพราะยึดมั่นในกฎหมายสากล กลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที เพราะเปิดโอกาสให้กัมพูชานำพื้นที่ที่ได้มาโดยไม่มีกฎหมายสากลรับรอง เข้ามาเจรจาได้ ซึ่งแตกต่างจากกรณีไทย-มาเลเซีย อย่างชัดเจน

พรรคพลังประชารัฐ จึงเรียกร้องให้นายกฯ ยกเลิก MOU 2544 โดยเร็วที่สุด เนื่องจากแผนที่แนบท้าย MOU 2544 เขตของกัมพูชาได้รวมเอาน่านน้ำภายในของจังหวัดตราด เกาะกูด และทะเลอาณาเขตของไทยเข้าไปด้วย ทำให้ไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และมีโอกาสเสียดินแดน เช่นเดียวกับเขาพระวิหาร คล้ายกับกรณีฝรั่งเศสที่เข้ายึดพื้นที่ของสยาม เพื่อเป็นตัวประกันในการเจรจาต่อรอง

นายชัยมงคล กล่าวปิดท้ายว่า ใครจะว่าเราคลั่งชาติ เราไม่ใส่ใจ เราจะไม่ค้อมหัวให้คนที่ต้องการผลประโยชน์ทับซ้อน และไม่ต้องการคุกเข่าให้คนที่จะมาแสวงหาผลประโยชน์กับแผ่นดินไทย เราจะปกป้องแผ่นดินนี้ แม้จะเป็นคนสุดท้ายก็ยอม โดยเราจะต่อสู้ทั้งในและนอกสภา ส่วนการยื่นหนังสือเปิดเผยถึงนายกรัฐมนตรีจะมีการนัดหมายกันอีกครั้ง

เมื่อถามว่า ได้มีการพูดคุยกับพรรคการเมืองอื่นในเรื่องนี้หรือไม่ นายชัยมงคล กล่าวว่า เราพร้อมคุยกับทุกพรรคการเมือง และประชาชนทุกคน ที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ส่วนถ้ายื่นไปแล้วไม่มีการตอบสนองจากนายกฯ ในทางนอกสภา จะทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าถึงเวลาที่ต้องลุกมาปกป้องดินแดน ส่วนในสภาก็จะดำเนินการตามขั้นตอน.-315.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เบื้องหลังการถ่ายทอดขบวนเรือพระราชพิธีฯ

วันที่ 27 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยมีพระราชพิธีสำคัญคือ พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ข่าวแนะนำ

ลูกสาวชัยชนะ

“ชัยชนะ” เผยลูกสาว ถูกคอลเซ็นเตอร์หลอกสูญ 6 แสน จี้ นายกฯ แก้

“ชัยชนะ” ปธ.กมธ.ตำรวจ เผยลูกสาว ถูกคนอ้างเป็นดีเอสไอ วิดีโอคอลหลอกรีดเงินสูญ 6 แสน ประฌามพฤติกรรมเลวทราม จี้ ผบ.ตร.-นายกฯ แก้ปัญหาคอลเซ็นเตอร์

ราคาทองคำ

ราคาทองเช้านี้ ขยับทำนิวไฮอีก ทองแท่ง 44,350 บาท

ราคาทองคำไทยเช้านี้ ทำ All time high อีกครั้ง ตามตลาดโลก จากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง

ทนาย “บอสพอล” เผยแม่ข่ายกว่า 100 คน จ่อถอนแจ้งความหลังเข้าใจผิด

ทนายเตรียมเข้าเยี่ยม “บอสพอล” หลังเรือนจำมีการแยกแดน พร้อมเผยมีแม่ข่ายกว่า 100 คน เตรียมถอนแจ้งความ หลังเข้าใจผิด

นายกฯ เปิดงานสัมมนาเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567

นายกฯ เปิดงานสัมมนาเศรษฐกิจไทยประจำปี 2567 ย้ำ​ CEO​ มีบทบาทสำคัญ​ในการพัฒนาเศรษฐกิจทำให้ประเทศชาติ-รัฐบาลมั่นคงขึ้น บอก​ พร้อมรับฟังความเห็นเพื่อแก้ปัญหา​ ยัน หนุนผู้ประกอบการมีนโยบายลดต้นทุน-ซอฟต์โลน