กรุงเทพฯ 4 มิ.ย.- ในที่สุดร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แม้ตลอดทั้งวันที่มีการพิจารณา ฝ่ายค้านจะแสดงความกังวลเรื่องการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลยืนยันจะดำเนินการอย่างโปร่งใส
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน จนรัฐบาลต้องนำเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นเพิ่มเติม วงเงิน 96,000 ล้านบาท ของปี 63 มาใช้ แต่ไม่เพียงพอในแก้ปัญหาหลายมิติ ที่สุดต้องใช้วิธีโอนงบ ผ่านร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายฯ วงเงินกว่า 88,000 ล้านบาท มาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
ทุกกระทรวงจัดสรรงบร้อยละ 10 คืนรัฐ ซึ่ง 5 กระทรวงแรกที่โอนงบคืนสูงสุด คือ กระทรวงกลาโหม 17,700 ล้านบาท กระทรวงศึกษาธิการกว่า 4,700 ล้านบาท กระทรวงคมนาคมกว่า 3,400 ล้านบาท ตามมาด้วยกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข
แน่นอนว่าฝ่ายค้านอภิปรายท้วงติงการโอนงบข้ามหน่วยงาน อาจมีปัญหาข้อกฎหมาย เพราะสามารถโอนได้เฉพาะหน่วยงานรับงบประมาณเท่านั้น และห่วงเรื่องการตรวจสอบ เพราะเสมือนเป็นการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเพียงผู้เดียว เสมือนตีเช็คเปล่า หวั่นเป็นรอยด่างของสภาฯ ที่ถูกมัดมือชกหากปล่อยผ่าน
ขณะที่นายกรัฐมนตรีลุกขึ้นโต้ฝ่ายค้าน ยืนยันไม่มีอำนาจพิจารณาคนเดียว พร้อมแจงตัวเลขละเอียดยิบว่า งบกลางที่ใช้กรณีฉุกเฉินและจำเป็นกว่า 90,000 ล้าน ใช้แก้ปัญหา 4 กลุ่ม เหลือเพียงกว่า 400 ล้านบาทเท่านั้น ย้ำไม่ต้องห่วงเรื่องการจัดสรรงบ ยืนยันจะดูแลคนทุกกลุ่มเท่าเทียม การใช้จ่ายงบกลางหลังจากนี้จะต้องรับฟังความเห็นของประชาชนว่าต้องการอะไร พร้อมคาดโทษหากเจอการทุจริต จะลงโทษทุกคนที่เกี่ยวข้องโดยไม่ละเว้น
ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลอภิปรายร่างกฎหมายนี้อย่างกว้างขวาง ที่น่าสนใจคือ มีการหยิบยกโครงการขยายถนนในจังหวัดมหาสารคาม วงเงิน 200 ล้านบาท ของกระทรวงมหาดไทย ขึ้นอภิปราย หลังไม่มีการตัดงบในส่วนนี้ ทั้งที่มีความไม่โปร่งใส ร้อนถึง มท.1 ต้องออกโรงแจง ว่าสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว หากพบมีการทุจริตก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ที่สุดแล้วสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พร้อมตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษารายละเอียด ตามขั้นตอนจะพิจารณาวาระ 2 และ 3 ก่อนส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อคาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากเป็นกฎหมายที่จำเป็นเร่งด่วน.-สำนักข่าวไทย