กรุงเทพฯ
31 พ.ค.-โควิด-19 ส่งผลไฟฟ้าล้นความต้องการเพิ่มขึ้น ล่าสุดสำรองสูงถึงร้อยละ 35
กฟผ.เจรจาเอสพีพี ที่เข้าระบบ 63-64 เลื่อนออกไป 1-2 ปี ด้าน บี.กริมระบุไม่กระทบ
เพราะ5 โรงเอสพีพีทดแทน เริ่มเข้าระบบปี 65
นายพัฒนา
แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลให้เจรจาผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก
หรือ SPP เพื่อบริหารจัดการไฟฟ้าให้เหมาะสมกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงในปี
2563 ซึ่งเป็นผลกระทบจาภการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น เบื้องต้น กฟผ.ได้จะเสนอต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
โดยจะขอให้ โรงไฟฟ้า SPP ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD)
ในช่วงปี 2563-2564 เลื่อนกำหนด COD
ออกไป 1-2 ปี ซึ่งต้องดูผลกระทบของผู้ประกอบการ และต้องมีข้อแลกเปลี่ยนให้รัฐเข้าไป
ชดเชยผลกระทบอย่างไร
อย่างไรก็ตาม
จากการเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้า SPP เบื้องต้นพบว่า
พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ แต่ยังมีข้อกังวลเนื่องของผลกระทบหากจะต้องเลื่อนกำหนด
COD โรงไฟฟ้าออกไป เช่น ผลกระทบด้านการเงิน
ภาระการชำระดอกเบี้ยกับสถาบันการเงิน
ซึ่งรัฐจะมีแนวทางเข้ามาช่วยบรรเทาผลกระทบได้อย่างไร เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า
ล่าสุด ในช่วงปลายเดือน พ.ค.2563 พบว่า ความการใช้ไฟฟ้าเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น
หลังจากรัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าที่เคยลดลงไปถึงระดับ ร้อยละ10ช่วงเม.ย.
ตอนนี้ยอดใช้ลดลงเหลือประมาณ ร้อยละ7-8 ทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้า อยู่ที่ระดับประมาณ ร้อยละ35
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า บริษัท
คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาเลื่อนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโรงไฟฟ้า SPP เนื่องจากในช่วงปี2563-2564 บริษัทไม่มีโรงไฟฟ้าที่จะเข้าสู่ระบบ
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ประเภททดแทน (SPP Replacement) จำนวน 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 700 เมกะวัตต์
ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ในสัดส่วนประมาณ 30 เมกะวัตต์ต่อโรง มีกำหนดเข้าระบบในปี 2565 –สำนักข่าวไทย