28 พ.ค.-“พล.ท.คงชีพ” โฆษกกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการโรงแรมในภาคตะวันออกที่จัดเป็น State Quarantine ตรวจสอบปมหักหัวคิว
เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ความคืบหน้ากรณี การติดตามกกลุ่มคนเกี่ยวข้องเรียกเก็บค่าหัวคิวจากเจ้าของโรงแรม ที่เป็นสถานที่กักตัวกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 ของรัฐ (State Quarantine) จ.ชลบุรี ล่าสุด พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่พบผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นทีภาคตะวันออกที่จัดเป็น State Quarantine เมื่อที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการได้ให้ข้อมูล รายชื่อ ไลน์ที่ได้พูดคุยในการเรียกรับเปอร์เซ็นต์ เงื่อนไขต่างๆ จึงได้ส่งไปให้ พล.ต.ท.มนตรี ยิ้มแย้ม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 หมดแล้ว ขั้นตอนจากนี้เป็นการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงไม่ขอเปิดเผยรายละเอียด
กรณีดังกล่าวมีผู้เสียหายทั้ง 3 ส่วน คือ ผู้ประกอบการโรงแรมที่ไม่ได้รับค่าห้องพักเต็มราคา ผู้กักตัวอาจถูกตัดปริมาณอาหาร หรือไม่ได้รับบริการอย่างเต็มที่ และ รัฐที่ได้รับความสูญเสียในเรื่องงบประมาณ และภาพลักษณ์ในการจัดหาพื้นที่ State Quarantine จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงกลาโหม ซึ่งดูแลในภาพรวมต้องค้นหาว่าใครอยู่เบื้องหลังผลประโยชน์ และตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตรวจสอบและขยายผล
“ถ้าพบว่า ทหาร ตำรวจ หรือคนของกระทรวงสาธารณสุข ก็ให้จัดการให้หมด ผมบอกผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่ 2 และ พลตำรวจโท ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าต้องเปิดเผยเลยว่าใครเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นตัวใหญ่ เบอร์ใหญ่ขนาดไหนก็ต้องเปิดออกมา เพราะเป็นเรื่องตัวบุคคลที่ไปแสวงหาผลประโยชน์ ในขณะที่องค์กร และ รัฐ มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาในเรื่องโควิด -19” โฆษกกระทรวงกลาโหม ระบุ
ขณะที่ แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ภายหลังที่กระทรวงกลาโหม ได้ส่งมอบหลักฐานและรายชื่อ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเรียกรับค่าหัวคิวจากโรงแรมที่ใช้เป็นสถานที่กักตัวของคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ทาง สตช. มอบให้ ตำรวจภูธรภาค2 ไปดำเนินการ เนื่องจากเป็นพื้นที่รับผิดชอบ โดยได้ตั้ง พนักงานสอบสวน มีรองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ชลบุรี และ ผู้กำกับสถานนีตำรวจภูธรเมืองพัทยา รวมถึงชุดพนักงานสอบสวน ร่วมหาข้อเท็จจริง โดยเบื้องต้น มีผู้เกี่ยวข้อง 9 ราย เป็นเซลล์ติดกับผู้ประกอบการโรงแรมโดยตรง
สำหรับขั้นตอนในการเลือก State Quarantine ในเดือนเมษายน เริ่มจาก 1.กระทวงสาธารณสุข (สธ.) จะประชาสัมพันธ์เชิญชวนเอกชน ผู้ประกอบการ โรงแรมที่พัก พร้อมแจ้งคุณสมบัติ และ ความต้องการ รวมถึงราคาห้องพักไปทางช่องทางต่างๆ 2. ผู้ประกอบการเสนอตัวเข้ามาทางเว็บไซต์ว่ามีคุณสมบัติตามกรอบที่กำหนด 3. สธ. ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสเปค ถ้าผ่านขั้นตอนนี้ 4.ชุดของ ทหาร ตำรวจ และ เจ้าหน้าที่ สธ. จะลงพื้นที่ไปดูเรื่องการวางระบบการรักษาความปลอดภัย การบริหารจัดการ 5.รอการแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแจ้งเที่ยวบินและจำนวนคนที่จะส่งไปโรงแรม
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในช่วงแรกที่โรงแรมที่เสนอตัวเข้ามา พบว่าโรงแรมส่วนใหญ่ไม่ผ่านคุณสมบัติที่ สธ.กำหนด เพราะไม่มีใบอนุญาต หรือ ใบอนุญาตไม่ถูกต้อง ทำให้หาโรงแรมได้ไม่เพียงพอ อีกทั้ง มีคนไทยที่อยู่ต่างประเทศลงทะเบียนขอกลับประเทศเป็นจำนวนมาก พบว่าจนถึงกลางเดือน มิ.ย มียอดผู้ลงทะเบียนถึง 1.5-2 หมื่นคน ต่อเดือน
“ปริมาณห้องพักในการรองรับผู้เดินทางกลับมีแค่วันละ 200 คน รัฐจึงอยากขยายการหาห้องพักให้ได้วันละ 400 คน ดังนั้นจึงต้องเร่งหาโรงแรมเอกชนเพิ่ม ทำให้ช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมามีการพูดกันแบบปากต่อปากอย่างไม่เป็นทางการว่า ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องช่วยกันหา ใครรู้จักโรงแรมไหนก็ให้เสนอมา ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้เครือข่าย โดยเฉพาะนายหน้า หรือ เซลล์ ซึ่งรู้ข้อมูลในพื้นที่ มาติดต่อ และรับไปประสานงานกับผู้ประกอบการ และเรียกรับหัวคิว” แหล่งข่าวระบุ.-สำนักข่าวไทย