กรุงเทพฯ 25 พ.ค. -กระทรวงเกษตรฯ สรุปผลการจ่ายเงินเยียวยา 15-24 พ.ค. เข้าบัญชีเกษตรกรแล้วกว่า 4.2 ล้านราย พร้อมเร่งตรวจทานข้อมูลกับ ธ.ก.ส. ตามที่มีการระบุว่ารายชื่อเกษตรกรที่ส่งให้โอนเงินนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 109,000 คน
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ว่า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรตั้งแต่วันที่ 15-24 พฤษภาคม จำนวน 4,222,359 ราย รวมเงิน 21,111.795 ล้านบาท เมื่อวานนี้ (24 พ.ค.) โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร 499,755 ราย เป็นเงิน 2,498.775 ล้านบาท กระทรวงเกษตรฯ ส่งรายชื่อให้กระทรวงการคลังตรวจสอบความซ้ำซ้อนเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 700,000 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีกลุ่มข้าราชการที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพเสริม แต่การพิจารณาว่าจะจ่ายเงินให้หรือไม่ เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ หากส่งรายชื่อกลับมากระทรวงเกษตรฯ จะส่งให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินเข้าบัญชีทันที
สำหรับการจ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนภายใน 30 เมษายน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ส่งรายชื่อชุดแรกให้ธ.ก.ส.เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ประมาณ 3.3 ล้านราย ทาง ธ.ก.ส.แจ้งว่าตรวจสอบข้อมูลกับฐานข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยอีกพบว่ามีผู้เสียชีวิต 527 คน ซึ่งในส่วนนี้จะต้องหารือคณะกรรมการกลั่นกรองฯ ว่า จะมอบเงินให้แก่สมาชิกครัวเรือนหรือไม่ เพราะการขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นเกษตรกรด้านพืชขึ้นทะเบียนเป็นครัวเรือน ผู้มีรายชื่อในทะเบียนเกษตรกร คือ หัวหน้าครัวเรือน ส่วนที่มีข่าวว่ารายชื่อชุดที่ 2 ส่งไป 3.4 ล้านราย ทาง ธ.ก.ส.ตรวจสอบแล้วมีผู้เสียชีวิตถึง 109,000 รายนั้น ยังไม่ได้รับรายงาน แต่จะเร่งประสานกับ ธ.ก.ส. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ทะเบียนเกษตรกรที่ส่งไปนั้นเป็นทะเบียนปี 2562 และปรับปรุงปี 2563 ดังนั้น เพียงปีเดียวไม่น่าจะมีเกษตรกรเสียชีวิตมากถึงเพียงนั้น
นายอนันต์ กล่าวต่อว่า ทาง ธ.ก.ส.แจ้งไม่สามารถโอนเงินให้เกษตรกรจำนวนหนึ่งได้ เนื่องจากบัญชีปิดไปแล้ว หรือบัญชีไม่เคลื่อนไหวมานาน ซึ่งจะเร่งติดต่อให้เกษตรกรมาแจ้งข้อมูลบัญชีที่ใช้อยู่ให้ถูกต้อง โดยทาง ธ.ก.ส.ให้แจ้งผ่านเว็บไซต์ www. เยียวยาเกษตรกร .com โดยเร็ว ทั้งนี้ จะเป็นบัญชีธนาคารใดก็ได้ ไม่จําเป็นต้องมาเปิดบัญชีใหม่กับ ธ.ก.ส.
สำหรับการจ่ายเงินเกษตรกรกลุ่มแรกจะดำเนินการจ่ายจนถึงวันที่ 29 พฤษภาคม ซึ่งเกษตรกรสามารถตรวจสอบสถานะได้ที่ www.moac.go.th เมื่อสิ้นรอบการจ่ายเงินของเกษตรกรแต่ละกลุ่ม หากเกษตรกรรายใดไม่ได้รับเงินเยียวยาทุกกรณีให้ยื่นอุทธณ์ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว รวมถึงยื่นอุทธรณ์ทบทวนสิทธิ์ด้วยตนเองได้ที่หน่วยงานในพื้นที่ 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอ/เกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานประมงจังหวัด/อำเภอ/กทม. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด/อำเภอ (4) ศูนย์หม่อนไหม เฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ประจำจังหวัด/สาขา สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่/สาขา สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายในส่วนภูมิภาค และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด โดยใกล้หน่วยงานใด สามารถแจ้งที่หน่วยงานนั้นได้เลย
ทั้งนี้ กลุ่มแรกเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง เป็นประจำทุกปีและแจ้งปรับปรุงทะเบียนภายในวันที่ 30 เมษายน กำหนดอุทธรณ์ วันที่ 19 พฤษภาคม-5 มิถุนายน กลุ่ม 2 เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมหม่อนไหม กยท. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้าตาลทราย และกรมสรรพสามิตภายในวันที่ 30 เมษายน และผู้ที่ขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมหรือปรับปรุงข้อมูลทะเบียนระหว่างวันที่ 1 – 15 พฤษภาคม กำหนดอุทธรณ์ 31 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน
มีรายงานว่านายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายปลัดกระทรวงเกษตรฯ หารือด่วนกับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เรื่องการกำหนดเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรให้ชัดเจนว่า จะตัดสิทธิ์กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐออกด้วยหรือไม่เนื่องจากในการประชุม ครม.วันที่ 28 เมษายน ทางคณะกรรมการกลั่นกรองฯ เสนอให้ตัดเพียงกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์จากโครงการเราไม่ทิ้งกัน ฐานทะเบียนประกันสังคม และฐานทะเบียนข้าราชการบำนาญเท่านั้น ซึ่งนายเฉลิมชัย ได้ให้ความเห็นส่วนตัวว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลจากรัฐอย่างต่อเนื่อง โดยมีเงินเดือนประจำนั้นไม่สมควรได้รับ แต่กระทรวงเกษตรฯ ต้องทำตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการกลั่นกรองฯ และมติ ครม. จึงขึ้นอยู่กับกับว่า คณะกรรมการกลั่นกรองฯ จะมีความเห็นอย่างไรต่อไป.-สำนักข่าวไทย