นนทบุรี24พ.ค.-ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เผย ไทยเตรียมทดลองวัคซีนในคน หลังทดลองในลิงได้ผลดี คาดปลายปีหน้า ไทยสามารถผลิตวัคซีนรักษาโควิด-19 ใช้ในประเทศไทย
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ร่วมแถลงความก้าวหน้าวัคซีนโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุข
ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ทั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ วช.ภายใต้การกำกับของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ไบโอเทค สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขณะนี้ถือว่ามีความก้าวหน้า เริ่มทำการทดสอบในสัตว์ทดลองทั้งหนูและลิง ซึ่งการพัฒนาวัคซีนนั้นทำในหลายรูปแบบ แต่ที่มีความก้าวหน้า คือ DNA วัคซีน และ mRNA วัคซีน โดย DNA วัคซีน บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และไบโอเทค ทดสอบในหนูทดลอง ส่วน mRNA วัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดสอบในหนู และเริ่มทดสอบในลิงเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ซึ่งวัคซีนที่ผ่านการทดสอบในสัตว์ทดลองต้องให้ได้ผลเป็นที่พอใจ ผ่านเงื่อนไขทั้งความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สัตว์ทดลองถึงจะนำมาเริ่มทดสอบในคนได้ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผนจะสามารถเริ่มทดสอบวัคซีนในคนปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ซึ่งการทดสอบในคนจะมี 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ดูความปลอดภัย ทดสอบในอาสาสมัคร 30-50 คน ระยะที่ 2 ดูการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ทดสอบในอาสาสมัคร250-500 คน และระยะที่ 3 ดูว่าให้ผลในการป้องกันโรค ทดสอบในอาสาสมัครมากกว่า 1,000 คน และคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนใช้ภายในประเทศได้ปลายปี64 นักวิจัยไทยกำลังพยายามกันอยู่ ซึ่งไทยมีโรงงานในการผลิตวัคซีนอยู่ คือบริษัทไบโอเนท-เอเชีย ที่มีศักยภาพ แต่ต้องได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีบางส่วนจากต่างประเทศ ซึ่งได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย รวมถึงประเทศจีนแล้ว แต่หากยังไม่สามารถผลิตได้อาจต้องซื้อวัคซีนจากประเทศต้นทางมาใช้ในช่วงสั้นๆไปก่อน ย้ำว่าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน แต่หากแผนสะดุดต้องมีปรับกันใหม่อีกรอบ ซึ่งจะเห็นว่าการพัฒนาวัคซีนต้นแบบของไทยใช้เวลาเพียง 50 วัน ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่เร็วเพื่อให้ทันต่อการป้องกัน
ขณะที่นานาชาติเริ่มทดสอบในคนแล้วเป็นวัคซีน 10 ชนิด คือ ประเทศจีน สหรัฐเมริกา อังกฤษ เยอรมนี และออสเตรเลีย ซึ่งก็จะเป็นพื้นฐานสำคัญให้ประเทศที่กำลังพัฒนาวัคซีนนำไปเป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงวัคซีนให้ดีขึ้นเรื่อยๆ .-สำนักข่าวไทย