กรุงเทพฯ 21 พ.ค. – คลายล็อกดาวน์ส่งผลราคาน้ำมันขึ้นรายวัน แนวโน้ม สนพ. ชี้มีโอกาสขึ้นอีก พร้อมเร่งปรับโครงสร้างราคาก๊าซ หลังเปิดเสรีนำเข้า
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันขายปลีกในเมืองไทยที่ขยับขึ้นหลายครั้งในเดือนนี้ เป็นไปตามทิศทางตลาดโลก ที่ราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากรัฐบาลในประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ช่วยหนุนความต้องการใช้น้ำมัน และสัญญาน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนจากการที่ซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือน มิ.ย. นอกเหนือจากที่ได้ปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประกอบกับนักลงทุนขานรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วโลก ที่ถูกผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ช่วงวันที่ 11 -17 พฤษภาคม 2563 ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 28.47เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ 26.44 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.71 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และ 2.99 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตามลำดับ โดยซาอุดีอาระเบีย ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. ลงราว 5 ล้านบาร์เรล/วัน โอเปกพลัสและประเทศอื่นๆ พร้อมใจปรับลดกำลังการผลิต
สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันในปี 63 ล่าสุด จะหดตัวที่ 8.6 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งปรับสูงขึ้นจากคาดการณ์เดิม 690,000 บาร์เรล/วัน ส่วนกลุ่มโอเปกคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 63 จะลดลงราว 9.07 ล้านบาร์เรล/วัน มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า 6.85 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งความต้องการใช้น้ำมันคาดว่าจะลดลงต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ส่วนสถานการณ์น้ำมันชีวภาพในไทย มีปริมาณการผลิตไบโอดีเซล ณ สิ้นเดือน มี.ค. อยู่ที่ 4.83 ล้านลิตร/วัน และปริมาณการใช้ไบโอดีเซลอยู่ที่ 5.32 ล้านลิตร/วัน สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบรวม ณ สิ้นเดือน เม.ย. ประมาณ 251,369 ตัน ส่วนการใช้เอทานอลภาคเชื้อเพลิงในเดือนเมษายนอยู่ที่ 2.80 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อนประมาณ 1.17 ล้านลิตรต่อวัน
ผู้อำนวยการ สนพ.ยังกล่าวด้วยว่า ในขณะนี้กำลังศึกษาการปรับโครงสร้างการแข่งขันในกิจการก๊าซฯใหม่ เช่น การกำหนดสูตรโครงสร้างราคาก๊าซฯ การนำเข้า LNG ของ Shipper หรือผู้นำเข้ารายใหม่ จะไม่ถูกนำมาคำนวณในสูตรราคาเฉลี่ยรวม (Pool Gas) ที่จัดหาจาก 3 แหล่ง คือ การจัดหาก๊าซฯในประเทศ,การซื้อก๊าซจากเมียนมา และสัญญาระยะยาวของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รวมถึงเรื่องของคุณภาพก๊าซฯผ่านระบบท่อของ ปตท.ด้วย โดยการดำเนินการต่างๆ จะต้องอยู่บนหลักการสำคัญคือ 1.เกิดการแข่งขัน 2.ต้นทุนก๊าซฯ ต้องถูก เพื่อให้ได้ประโยชน์จากต้นทุนอัตราค่าไฟฟ้าที่จะลดต่ำลงในอนาคต . – สำนักข่าวไทย