ศิริราช 19 พ.ค.-คณบดีศิริราช ห่วงไม่เกินสัปดาห์ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่อาจขยับเพิ่มเพราะปัจจัย คนออกนอกบ้านมากขึ้น เจอคนเยอะ ระยะห่างทางสังคมน้อย ย้ำเดินห้างได้ แต่ต้องรู้จักสแกน QR Code “ไทยชนะ” ทั้งเข้า-ออก เพื่อเป็นข้อมูลในการสอบสวนโรค
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวประเมินสถานการณ์โควิด-19 ว่า เชื่อว่าขณะนี้ประเทศไทย กำลังผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกที่ 1 ไปแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ต่ำลง (ค่าอาร์)เกิดการเริ่มคลายสัญญาณผ่อนคลายมาตรการ ที่ผ่านมาคนเก็บกด ต้องการ การพักอย่างเต็มที่ทำให้ social distancing ระยะห่างทางสังคมลดลง ปัจจัยที่จะทำให้คนกลับมาติดเชื้อจำนวนมากได้อีกครั้ง ขึ้นอยู่กับปัจจัย สัดส่วนการสัมผัสใกล้ชิดกัน (ค่าซี) และโอกาสการแพร่ กระจายของเชื้อมากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่เอาพบเจอ เจอ 4 คนก็มีโอกาสติดมากกว่าการเจอคนแค่คนเดียว (ค่าพี) ฉะนั้น เมื่อมีกิจกรรมนอกบ้าน ก้าวออกจากบ้านมากขึ้น ก็มีความเสี่ยงมากขึ้นเป็นธรรมดา วันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านจะเห็นว่าคนแน่นห้างสรรพสินค้า ฉะนั้นเหลือปัจจัยเดียวที่จะสามารถป้องกันโรคได้ คือการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งที่ผ่านมายังพบว่าคนยังใส่กันอยู่ ฉะนั้น ตรงนี้ละเลยไม่ได้
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (18พ.ค.) การที่ ศบค. รายงานตัวเลขการพบผู้ป่วยติดเชื้อ 3 คน โดย 2 คนมาจาก จ.นนทบุรี แต่ทำงานในกทม. นั้น เรื่องนี้ต้องมีการสอบสวนโรคให้ดี ว่ามีการเจอผู้คนใครมาบ้าง ต้องไล่ตามดู เพื่อให้ได้ข้อมูลและเกิดการควบคุม เพราะมิเช่นนั้น คาดว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะเพิ่มขึ้น 2 หลักแน่นอน ฉะนั้นการผ่อนคลายมาตรการ ความเสี่ยงก็ย่อมเกิดขึ้น ทุกคนต้องช่วยกัน การเปิดห้างสรรพสินค้าใน 2 วันที่ผ่านมา คนไปใช้บริการจำนวนมาก ก่อนเข้า แม้จะมีการให้ประชาชนที่มาใช้บริการ ต้องสแกนQR Code (คิวอาร์โค้ด) “ไทยชนะ” ก่อนเข้าห้างและการรับบริการภายในห้าง ร้านค้าต่างๆ ทำได้ดีแต่ก็ยังมีปัญหา บางคนลืมสแกนคิวอาร์โค้ดออก ข้อมูลตรงนี้มีความสำคัญมากในการสอบสวนโรค หากละเลยทำไม่ถูกขั้นตอน จะทำให้การสอบสวนโรคทำได้ยาก
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า เทคโนโลยีเข้ามามีประโยชน์ในการควบคุมโรค หรือสอบสวนโรค แต่สิ่งสำคัญที่ช่วยได้มากๆ คือ ระยะห่างระหว่างบุคคล และการสวมหน้ากากอนามัย ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และตัวห้างสรรพสินค้าเองก็ควรมีเจ้าหน้าที่แบบเคลื่อนที่เร็วคอยติดตามดูแลคนที่อาจแน่นในพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ เว้นระยะห่าง พร้อมยกตัวอย่างบทเรียนในประเทศเกาหลีใต้ มีการใช้แอปพลิเคชัน ติดตามประชาชน หลังพบการติดเชื้อโควิด -19 ระลอก 2 โดยพบว่าการเคร่งครัดลงทะเบียนสแกนข้อมูล มีผลอย่างมากในการติดตามตัวผู้ป่วยได้ครบและสอบสวนอย่างรวดเร็ว ฉะนั้นประเทศไทยเอง แม้ไม่เคยชิน และยังต้องเรียนรู้เทคโนโลยี และบางครั้งเทคโนโลยีอาจไม่เสถียร แต่เชื่อไม่ยากเกินปรับตัว .-สำนักข่าวไทย