สำนักข่าวไทย 12 พ.ค.63- เรื่องราวของการให้-การรับ จิตสำนึกและการปลูกฝังถึงเรื่องการมีน้ำใจของคนไทยที่มีให้แก่กันได้แสดงออกมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในสถานการณ์แบบนี้เราคงต้องย้อนถามตัวเองแล้วว่า การให้คืออะไร… การรับคืออะไร… แล้วเราควรต้องมีจิตสำนึกอย่างไร…
ตู้ปันสุขยอดพุ่งเกือบ 250 ตู้ในพื้นที่ 51 จังหวัด ผู้เริ่มทำโครงการย้ำ ตู้เป็นของชุมชน ผู้ติดตั้งไม่มี “หน้าที่” ใส่ของให้ ส่วนผู้รับหยิบ แค่ “พอดี” และเป็นผู้ “ให้ ” เมื่อมีโอกาส ส่วนตู้พาสุข นครสวรรค์ที่เกิดเหตุทะเลาะเบาะแว้งแย่งของกัน ยังไม่เลิกทำแต่ย้ายสถานที่จัดระเบียบใหม่แทน
โซเชียลชมให้บทเรียนขัดเกลาจิตใจ
เฟซบุ๊ก “ตู้ปันสุข” ที่มีนายสุภกฤษ กุลชาติวิจิตร หรือโค้ชแบงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายและการตลาด และเพื่อนกลุ่มอิฐน้อย ผู้เริ่มทำโครงการตู้ปันสุขแบ่งปันอาหารกระป๋อง น้ำดื่ม ช่วยผู้ยากไร้ ผู้ตกงาน ในช่วงโควิด-19 จาก 5 ตู้ ใน 2 จังหวัดคือ กทม. และระยอง จนมีภาคประชาชนและหน่วยงาน องค์กรต่างๆ นำไปขยายผลติดตั้ง ตู้ปันสุข จนแพร่หลายไปทั่วประเทศในชื่อต่างๆ กันไป ได้รายงานตัวเลขตู้ปันสุขจนเมื่อวานนี้ว่า มีจำนวน 249 ตู้ ในพื้นที่ 51 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคกลาง 20 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคใต้ 10 จังหวัด
ซึ่งการช่วยเหลือแสดงน้ำใจของคนไทยดังกล่าวยังถูกทำข่าวเผยแพร่ไปในต่างประเทศ เช่นสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่ไปสัมภาษณ์นายสุภกฤษ ถึงสาเหตุที่ทำโครงการดังกล่าวว่า มาจากการที่เห็นคนไทยจำนวนมากกำลังเผชิญภาวะวิกฤติจากการไม่มีรายได้หรือเงินมาซื้ออาหารจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากเรื่องนี้ถูกเผยแพร่ออกไปได้เพียงวันเดียว ตู้ปันสุขก็เพิ่มแบบก้าวกระโดดไปในพื้นที่ 44 จังหวัด นอกจากนี้ รอยเตอร์ยังไปสัมภาษณ์หญิงวัย 62 ปี ผู้มารับสิ่งของจากตู้ปันสุข ชื่อนางกิ่งเพชร หล่อทอง ที่สามีตกงานแต่มีภาระต้องดูแลปากท้องของคนในบ้านจำนวน 5 คน เธอบอกว่าไม่ต้องการหยิบของจากตู้ไปจำนวนมากๆ เพราะเราควรแบ่งให้คนอื่นด้วย จึงเอาไปเฉพาะที่จำเป็น
ในเฟซบุ๊ก “ตู้ปันสุข” ยังพูดถึงหลักการของ ตู้ปันสุข อาทิ
*ตู้ปันสุข มิใช่การแจกมหาทาน ซื้อมาเยอะๆเพื่อมาแจก แต่เป็นการแบ่งปันของเล็กๆน้อยๆ ที่มีในบ้าน พอที่จะให้คนอื่นๆได้
*ตู้ปันสุขเป็นของชุมชน ผู้ติดตั้งไม่ได้เป็นเจ้าของ ไม่มีหน้าที่มาใส่ของให้หรือมาดูแลตู้ให้ เมื่อติดตั้งเสร็จแล้วถือว่ายกให้เป็นของชุมชนหากมีคนขโมยตู้ไป เราจะไม่โกรธ ไม่รู้สึกต่อว่าผู้ที่ขโมยไป มันเป็นของชุมชนถ้าชุมชนไม่ช่วยกันรักษาก็จะไม่มีตู้ใช้
* เมื่อเอาของใส่ตู้แล้ว มันไม่ใช่ของเราอีกต่อไป จะมีคนเปิดหยิบไปหรือไม่ จะมีคนเติมหรือไม่เป็นกระบวนการของชุมชนนั้นๆ หยิบแค่”พอดี”และเผื่อแผ่ “ให้ “ ผู้อื่นต่อ ถือว่าเป็นผู้ให้ต่ออีกด้วย และก็เชื่อได้ว่าเขาจะได้ “รับ “ของจากคนอื่นๆในชุมชนต่อไป
ทั้งนี้เพราะ “ ผู้ให้ “ ทุกท่านในชุมชนไม่ได้มี “ หน้าที่ “ เติมตู้ให้เต็ม แต่เป็นการแบ่งปันตามกำลัง ด้วยความรัก ความเมตตาต่อกัน
ส่วนปัญหาที่มีผู้ทะเลาะแย่งชิงของจากตู้พาสุข บริเวณหน้าห้างแฟรี่ จ.นครสวรรค์ นั้น เฟซบุ๊ก “ วีระยุทธ เชื้อไทย “ ได้โพสต์ว่ามีการย้ายจุดติดตั้งตู้ปันสุขมายังที่ใหม่คือ บริเวณหน้าสถานีดับเพลิงเทศบาลนครสวรรค์ ตรงข้ามโรงเรียนเขากบ ตั้งแต่เมื่อวานนี้ เพื่อให้ จนท.ดับเพลิงช่วยจัดระเบียบ พร้อมกับโพสต์รูปถ่ายที่มีคนเข้าคิวมารับของแบบเส้นระยะห่างอย่างเป็นระเบียบ โดยเฟซบุ๊กดังกล่าวระบุว่า
กราบขอบคุณชาวนครสวรรค์ที่ส่งบทเรียนนี้สู่สังคม การไม่ล้มเลิก “ตู้พาสุข หลังจากถูกรุมแย่งข้าวของ ด้วยการย้ายตู้ไปสู่การดูแลกันและกันโดยพี่ๆดับเพลิงคือ การรักษาจิตแห่งการให้ของตัวเอง และการให้บทเรียนจิตสำนึกที่ดี แก่ผู้รับที่ยังขาดเรื่องจิตสำนึก
ตู้พาสุขของนครสวรรค์จึงกลายเป็นตู้ที่ทำหน้าที่สมบูรณ์ในการขัดเกลาจิตใจของทั้งผู้ให้ ที่เอาชนะรอยด่างวิจารณ์ของสังคม และขัดเกลา จิตสำนึกของผู้รับอย่างแท้จริง.-สำนักข่าวไทย
เรื่องโดย : อรวรรณ กริ่มวิรัตน์กุล ที่มา Cr. เฟซบุ๊ก ตู้ปันสุข Facebook : วีระยุทธ เชื้อไทย