ปักกิ่ง 23 เม.ย.- คณะนักวิจัยสากลชี้ว่า ยุทธศาสตร์การทำให้เส้นกราฟการติดเชื้อเป็นแนวราบที่หลายประเทศพยายามใช้อยู่อาจทำลายเศรษฐกิจโดยที่ให้ผลน้อยมากในการลดจำนวนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานงานวิจัยที่เผยแพร่ในอาร์ไคฟ์ดอทโออาร์จี (arXiv.org) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลเปิดของนักวิจัยหลากหลายสาขาว่า คณะนักวิจัยที่มีนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของสหรัฐรวมอยู่ด้วย และนำโดย ศ.หลิว หยู มหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีนระบุว่า ขอแนะนำอย่างจริงจังให้ทบทวนยุทธศาสตร์การทำให้เส้นกราฟการติดเชื้อเป็นแนวราบ เพราะจะไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนและจำนวนผู้ป่วยก็จะไม่พ้นจุดสูงสุด เนื่องจากต้องพึ่งพาความร่วมมือจากประชาชนเป็นหลักในรักษาระยะห่างทางสังคม กระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต แต่ไม่สามารถแยกผู้ติดเชื้อออกจากคนส่วนใหญ่ได้ จึงแย่ยิ่งกว่าการไม่ทำอะไรเสียอีก
การทำให้เส้นกราฟเป็นแนวราบเป็นการนำมาตรการรับมือการระบาดหลากหลายอย่างมาใช้ร่วมกัน ประกอบด้วยการปิดสถานที่สาธารณะ การปิดธุรกิจที่ไม่จำเป็น และการให้คนอยู่บ้าน เป็นการประคองตัวเลขผู้ป่วยใหม่และผู้เสียชีวิตไม่ให้เพิ่มขึ้น เพื่อให้โรงพยาบาลมีกำลังในการดูแลผู้ป่วย แต่ไม่ได้ลดการติดเชื้อรายใหม่
คณะนักวิจัยนำตัวเลขการติดเชื้อรายวัน การแพร่เชื้อทางภูมิศาสตร์ ผลผลิตทางเศรษฐกิจ และการขนส่งสาธารณะ มาประเมินประสิทธิภาพของนโยบายควบคุมในแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเลือกระหว่างการควบคุมการระบาดกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจพบว่า การทำให้เส้นกราฟติดเชื้อเป็นแนวราบทำให้เศรษฐกิจสูญเสียร้อยละ 20-60 แต่ลดจำนวนผู้ป่วยได้ร้อยละ 30-40 ไม่เพียงพอที่จะดึงเส้นกราฟลงได้และไม่คุ้มในแง่ต้นทุนกับประสิทธิภาพ
ผลการศึกษาพบว่า มีเพียงเกาหลีใต้ กาตาร์ นอร์เวย์ และนิวซีแลนด์ เท่านั้นที่สามารถยับยั้งการระบาดโดยกระทบธุรกิจน้อยที่สุด ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน เศรษฐกิจสะเทือนหนักโดยที่จำนวนผู้ป่วยผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้นไม่หยุด ประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดไม่ได้ดีไปกว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างอิหร่านและสปป.ลาว.-สำนักข่าวไทย