สำนักข่าวไทย 23 เม.ย.-ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส ชี้การสรุปพื้นที่ใดเป็นเขตปลอดโรค ต้องนับเวลา 2 เท่าของระยะฟักตัว กรณีโรคโควิด-19 ระยะฟักตัว 14 วัน คือ 28 วัน ขณะที่ผลพลอยได้จากโรคโควิด-19 ทำให้ไข้หวัดใหญ่และโรคทางเดินอาหารลดลง
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว วันนี้ (23เม.ย.) เรื่องหลักการกำหนดเป็นเขตปลอดโรค โดยระบุว่า
โควิด-19 การกำหนดว่า เป็นเขตปลอดโรค โดยหลักการของโรคระบาด ตั้งแต่ SARS ไข้หวัดนก MERS ที่ระบาดในเกาหลี และ Ebola การจะบอกว่าพื้นที่ใดเป็นเขตปลอดโรค หรือไม่มีโรคจริงๆ จะถือเอาเวลาเป็น 2 เท่าของระยะฟักตัว เช่น สมัย SARS ระยะฟักตัวให้ 10 วันก็จะต้องไม่มีโรคในพื้นที่นั้น 20 วัน จึงจะถือว่าเป็นเขตปลอดโรค
เช่นเดียวกัน โควิด-19 ถ้าเราให้ระยะฟักตัวเป็น 14 วัน เราจะถือเขตปลอดภัยโรคของพื้นที่ใด จะต้องไม่มีโรคนั้น เป็นระยะเวลา 2 เท่า ของระยะเวลาฟักตัว คือ 28 วัน จึงจะมั่นใจว่าในพื้นที่นั้นไม่มีโรคนี้จริง ๆ
ขณะเดียวกัน ช่วงค่ำวานนี้ (22เม.ย.) ได้โพสต์เรื่องการควบคุมโรค โควิด- 19 ทำให้โรคติดเชื้ออื่นๆ ลดลงด้วย โดยในกว่า 1 เดือนที่ผ่านมาได้มีการควบคุมโควิด-19 ด้วยมาตรการต่างๆ ทำให้โรคติดเชื้ออื่นๆลดลงไปด้วย เช่น หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ และโรคทางเดินอาหาร ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในเด็ก ยกเว้นโรคติดต่อทางแมลง เช่น ไข้เลือดออก ที่ต้องใช้วิธีการควบคุมแตกต่างกัน
นับเป็นผลพลอยได้ของบรรดาผู้ปกครองพ่อแม่ ที่พาลูกไปหาหมอน้อยลง เหลือแต่การฉีดวัคซีนตามกำหนด โรงพยาบาล ก็ได้มีโอกาสใช้ทรัพยากร เตรียมการมาดูแลรักษา โควิด 19 ได้เต็มที่ .-สำนักข่าวไทย