กทม. 10 เม.ย. – ภาคเอกชนประเมินว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังยืดเยื้อ ในเดือนมิถุนายนนี้จะมีแรงงานจากหลายกลุ่มอาชีพตกงานกว่า 7 ล้านคน ขณะที่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการกิจการชั่วคราวและขาดรายได้ เรียกร้องให้รัฐหามาตรการเยียวยาให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม
สถานประกอบการในย่านธุรกิจกลางกรุงเทพฯ หลายแห่ง ติดป้ายประกาศหยุดกิจการ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นร้านที่ถูกประกาศให้ปิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น สปา นวดแผนไทย และสถานบันเทิง แต่ก็มีบางแห่ง เช่น ร้านอาหาร ที่ต้องตัดสินใจหยุดกิจการเองเป็นการชั่วคราว เพราะยอดขายลดลงมาก ทำให้พนักงานบางส่วนต้องหยุดงาน
ผู้ช่วยเชฟในร้านอาหารแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า เมื่อร้านประกาศหยุดชั่วคราว เขาจึงต้องหยุดงานไปด้วย และไม่ได้รับเงินเดือน แม้จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่สามารถขอรับสิทธิ์เยียวยาจากประกันสังคมหรือตามมาตรการอื่นๆ ของรัฐได้
คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประเมินว่าภายในเดือน มิ.ย. จะมีแรงงานตกงาน กว่า 7 ล้านคน จากแรงงานในระบบประกันสังคมประมาณ 38 ล้านคน คิดเป็น 18.5% ของแรงงานทั้งหมด มากที่สุดคือ ศูนย์การค้าและค้าปลีก กว่า 4 ล้านคน ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน และธุรกิจโรงแรม 900,000 คน
พนักงานศูนย์การค้า บอกว่า แม้นายจ้างยังให้มาทำงานและรับเงินเดือนตามปกติ แต่ต้องปรับลดเวลาทำงานลง ซึ่งกระทบต่อรายได้พิเศษ เช่น ค่าล่วงเวลา และส่วนเงินแบ่งจากยอดขายสินค้า จึงต้องหันมาหาอาชีพเสริม และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจถูกเลิกจ้าง หรือต้องลาออกเอง
การแพร่ระบาดของโควิส-19 กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจนับล้านล้านบาท ทั้งธุรกิจขนาดกลางและรายย่อย แม้ภาครัฐจะออกมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบถึง 3 ระยะ ทั้งการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ผู้ถูกเลิกจ้าง และอาชีพอิสระ ขณะที่กลุ่มแรงงานบางส่วนที่สถานประกอบการไม่ได้ถูกสั่งปิด แต่ได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัวลง เรียกร้องให้หามาตรการดูแลกลุ่มนี้เพิ่มเติม เพราะอาจไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยา. – สำนักข่าวไทย