รัฐสภา13 ก. พ. – ล่มจนได้ องค์ประชุมไม่ครบ หลังมีวอล์กเอาต์ 2 รอบ และมีมติไม่เลื่อนญัตติด่วน “หมอเปรม” ขอให้ส่งศาลตีความก่อนถกร่างแก้ไข รธน.
การประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ซึ่งวันนี้วาระสำคัญคือการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 จำนวน 2 ร่างของนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ โฆษกพรรคประชาชนและนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ
โดยมี นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เสนอญัตติด่วนขึ้นมาแทรก เรื่องขอให้สภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ขึ้นมา ทำให้นายวันมูหะมัดนอร์ ต้องขอมติในที่ประชุมว่าจะเลื่อนญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ขึ้นมาพิจารณาก่อนวาระร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่
นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ลุกขึ้นอภิปรายแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการนำญัตติด่วนของ นพ.เปรมศักดิ์ขึ้นมาพิจารณาก่อนวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการบรรจุระเบียบวาระเป็นอำนาจโดยแท้ของประธานรัฐสภา และประธานก็ได้วินิจฉัยแล้วว่าสามารถบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับได้
“ไม่ใช่ความเห็นของท่านประธานเพียงฝ่ายเดียวเลยด้วยซ้ำ ท่านพริษฐ์เข้าไปชี้แจงให้ท่านประธาน ฝ่ายกฎหมายอีกหลายท่าน มีทีมงานหลายท่านที่ช่วยกันวินิจฉัยถึงสาเหตุที่ทำไมรัฐสภาถึงบรรจุร่างรัฐธรรมนูญได้ โดยที่ไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และนี่คืออำนาจโดยแท้ตามรัฐธรรมนูญของท่านประธานนะครับ” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวต่ออย่างมีอารมณ์ว่า ประการที่สอง เรื่องนี้เป็นอำนาจโดยแท้ของผู้แทนตามรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจที่เราสามารถพิจารณาได้ หลักสากล การถ่วงดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติกับอำนาจตุลาการหรือองค์กรอิสระ เรามีตัวอย่างให้เห็นแล้ว ถ้าไปขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญผลของมันคือจะไม่ถูกบังคับใช้เป็นกฎหมายเท่านั้นเอง
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2025/02/13/1488315/1739427060_505572-tnamcot-1024x576.jpg)
“ไม่ใช่การก้าวก่ายอำนาจ แล้วมาบอกว่ารัฐสภานั้นพิจารณากฎหมายอะไรได้หรือไม่ได้ นี่คืออำนาจโดยแท้ที่ปวงชนชาวไทยมอบให้ทุกท่านมาทำหน้าที่ในสภาแห่งนี้ และผมคิดว่าญัตติวันนี้ รวมถึงความเห็นของเพื่อนสมาชิกบางท่านที่บอกว่าเราไม่สามารถมีอำนาจในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญได้ นี่เป็นอีกสาเหตุหลักที่ทำไมเราถึงต้องเร่งแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็วที่สุด ในเมื่อแม้กระทั่งผู้แทนปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนเลือกตั้งผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ในรัฐสภาแห่งนี้ ในการแก้ไขกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เรายังสงสัยตัวเองกันเลยว่าเราทำได้หรือไม่ได้ แล้วประชาชนเขาให้อำนาจเรามาทำไม ผมขอเรียกร้องสมาชิกทุกท่านมีความกล้าหาญในการทำหน้าที่ของตัวเอง ในการเป็นผู้แทนประชาชน ถ้าไม่มีความกล้าหาญ ไม่ต้องเสนอตัวมาเป็นผู้แทนประชาชน ผมไม่เห็นด้วยกับการเล่นญัตตินี้ขึ้นมา” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
ในที่สุด ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติ 275 ต่อ 247 ไม่เห็นด้วยให้เลื่อนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. เรื่องขอให้สภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ขึ้นมาแทนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1
จากนั้น ปรากฏว่า นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ลุกแจ้งต่อประธานว่าไม่เห็นด้วยกับการที่มีการประชุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในวันนี้ ก่อนจะขออนุญาตออกจากห้องประชุมทันที โดยมีกลุ่ม สว.สีน้ำเงินลุกออกจากห้องประชุมทันที ไม่เว้นแต่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งด้วย ขณะที่กลุ่ม สส. พรรคเพื่อไทย จากที่นั่งประชุมก็ลุกขึ้นมาจับกลุ่มหารือกลางห้องประชุมด้วยท่าทีเคร่งเครียด
ต่อมา นางนันทนา นันทวโรภาส สว. ลุกขึ้นแสดงความเห็นว่าบรรยากาศที่ห้องประชุมสะท้อนภาพลักษณ์ของวุฒิสภา เราทำอะไรกันอยู่ เมื่อโหวตลงมติแล้วมติเป็นเช่นไรทำไมไม่ยอมรับมตินั้น ทำไมจึงบอกว่าถ้าแพ้มติวอล์กเอาต์เดินออก นี่เป็นมติของสมาชิกรัฐสภา และก่อนลงมติก็อภิปรายอย่างกว้างขวางกว้าง จบสิ้นขบวนความแล้วเหตุใดผลไม่ถูกใจวอล์กเอาต์
“ดิฉันมองว่าสิ่งนี้เป็นภาพลักษณ์ที่พินาศของรัฐสภาแห่งนี้ นี่คือสถานที่ที่เป็นที่รวมของผู้แทนปวงชน และทำไมเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่ไม่ยอมรับกติกานี้ ทำไมไม่ให้เดินไปตามกระบวนการเป็นไปอย่างศักดิ์สิทธิ์ตามที่ประธานรัฐสภาบรรจุด้วยมือของท่านเอง และทุกคนก็มาอภิปรายให้เหตุผลว่าแก้ รัฐธรรมนูญไปทำไม”
นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส. บัญชีรายชื่อเพื่อไทยลุกขึ้นอภิปราย ยืนยันแม้แพ้โหวตก็ยังอยู่ประชุมต่อ
หลังถกเถียงระยะหนึ่ง นพ.เปรมศักดิ์ ได้เสนอญัตติให้ประธานรัฐสภานับองค์ประชุม เพราะมีสมาชิกรัฐสภาวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมหลายคน จากนั้น ประธานรัฐสภาได้ขอให้มีการแสดงตนปรากฏว่ามีสมาชิกแสดงตนในห้องประชุม 204 คน ไม่ครบองค์ประชุม ทั้งที่ช่วงเช้ามีคนเข้าร่วมลงชื่อประชุม 650 คน ทำให้ประธานรัฐสภา สั่งปิดการประชุม ในเวลา 12.04 น. และนัดประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) เวลา 09.30 น. – 319 -สำนักข่าวไทย