สธ.6 เม.ย.-รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แม้วันนี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่ห่วงการระบาดเป็นกลุ่มก้อนช่วงหน้าฝนและช่วงเปิดเทอม ต้องควบคุมโรคให้ได้ก่อนเปิดเทอม
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ประจำวันวันที่ 6 เมษยน 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข โดยย้ำถึงเมื่อผู้ป่วยสัมผัสเชื้อโควิด-19ระยะฟักตัว 5 วันกว่าจะแสดงอาการ และ1คนสามารถแพร่เชื้อได้ 2.2 คน ความรุนแรงของโรค พบว่าร้อยละ80 มีอาการน้อย ร้อยละ30 แทบไม่มีอาการ และอาการรุนแรงมีร้อยละ15 และภาวะวิกฤต ร้อยละ5 ส่วนเสียชีวิต ร้อยละ1.4
ทั้งนี้ เชื้อไวรัสโควิด-19 สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมโดยมีระยะเวลาที่แตกต่างกัน หากเป็นพื้นผิวสัมผัสที่แข็ง เชื้อจะอยู่ได้ 2-3 วัน หากเป็นพวกที่มีรูพรุน เช่น กระดาษ เสื้อผ้า อยู่ได้24 ชั่วโมง วิธีฆ่าเชื้อทั่วไปคือใช้น้ำผสมผงซักพอก หรือ แอลกอฮอล์70% เป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยาก
สำหรับมาตรการที่ควบคุมการแพร่ระบาด ขณะนี้มีการใช้ 2 มาตรการ คือ 1.มาตรการทางสาธารณสุข การสอบสวนโรค ค้นหาผู้ป่วยให้ได้โดยเร็ว การแยกตัวผู้ป่วย ตัดวงจรการแพร่ระบาด ให้ความรู้กับประชาชนถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ 2.มาตรการทางสังคม เพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล ลดการออกจากบ้าน ลดความแออัดในพื้นที่สาธารณะ
นพ.ธนรักษ์ กล่าวถึงแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขณะนี้ว่า ผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัสทุกคน พบร้อยละ80 หายได้เอง มีร้อยละ15 ที่อาการหนักต้องได้รับยาต้านไวรัส คือฟาวิพิราเวียร์ เป็นหลัก พร้อมขอประชาชนอย่ารังเกียจหรือประท้วงขับไล่ผู้ป่วย เพราะจะทำให้ผู้ที่ป่วยไม่กล้าพบแพทย์และไม่บอกข้อมูลตามจริง รวมถึงให้ความมั่นใจว่าผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว สามารถกลับไปอยู่ในชุมชนได้ปกติ ขออย่ารังเกียจและขับไล่
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่มีแนวโน้มจะลดลงเมื่อดูจากภาพรวมที่ลดลง โดยวันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 51 คน รวมสะสม 2,220 คน กลับบ้าน 793 คน ผู้เสียชีวิต 3คน รวมสะสม 26 คน ผู้ป่วยที่ยังรักษาในโรงพยาบาล 1,401 คน แต่ที่น่าเป็นห่วง คือการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมห่วงช่วงฤดูฝน อุณภูมิลดลงและความชื้น ทำให้เชื้ออยู่ได้นานขึ้นและการเปิดเทอมของโรงเรียนและมหาวิทยาลัย เป็นความท้าทายในการควบคุมโรค และทุกฝ่าย ต้องควบคุมโรคให้ได้ก่อนโรงเรียนเปิด .-สำนักข่าวไทย