ทำเนียบฯ 3 มี.ค.-ครม.เห็นชอบตั้งกองทุนเพื่อให้รัฐมนตรีช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดไวรัสโควิด-19 โดยเบื้องต้น รัฐมนตรีมอบเงินเดือนเข้ากองทุนดังกล่าว คนละ 1 เดือนก่อน เผย 14 ข้อสั่งการนายกฯ มีมาตรการระยะเร่งด่วนแก้ไขปัญหา มอบ “สมคิด” จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบ กระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนเสนอ ครม.
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (3 มี.ค.) เห็นชอบในหลักการเพื่อเสนอตั้งกองทุนเพื่อให้รัฐมนตรีช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด- 19 เบื้องต้นแล้วแต่ความสมัครใจ ไม่ได้บังคับ แต่ส่วนใหญ่คณะรัฐมนตรีเห็นพ้องต้องกันว่าจะมอบเข้ากองทุนฯ คนละ 1 เดือนก่อนเพื่อสมทบกับงบประมาณเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยในแต่ละเดือน นายกรัฐมนตรี ได้เงินเดือนอยู่ที่ 125,590 บาท ขณะรองนายกรัฐมนตรี ได้เงินเดือน 119,920 บาท ส่วนรัฐมนตรี ได้เงินเดือน 115,740 บาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ เกี่ยวกับ “มาตรการระยะเร่งด่วน สำหรับการแก้ไขปัญหาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)” 2 ด้าน แบ่งเป็นด้านการป้องกันโรคและสุขภาพ และด้านการบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ ด้านการป้องกันโรคและสุขภาพ ได้แก่ 1.ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 2.ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐ ระงับหรือเลื่อนการเดินทางไปศึกษาดูงาน อบรม หลักสูตร หรือประชุม ในประเทศที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส และประเทศเฝ้าระวัง ให้พิจารณาเปลี่ยนแปลงงบประมาณเป็นการดูงานภายในประเทศแทน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เว้นแต่กรณีมีความจำเป็นไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรจากหัวหน้าส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า 3.ให้เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่เดินทางกลับมาจาก หรือเดินทางผ่าน หรือมีเส้นทางแวะผ่าน (Transit/Transfer) ประเทศที่เสี่ยงแพร่ระบาดเชื้อไวรัสต้องสังเกตอาการ และปฏิบัติอยู่ในที่พัก 14 วัน โดยไม่ถือเป็นวันลา หากมีเหตุอันควรสงสัยว่าติดเชื้อไวรัสให้พบแพทย์ ทั้งนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน จัดทำหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติงานภายในที่พัก โดยให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ส่วนประชาชนทั่วไปที่เดินทางกลับ หรือ เดินทางผ่าน ให้ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการคัดกรองประชาชนกลุ่มดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่มีความจำเป็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการขนส่งประชาชนกลุ่มดังกล่าวกลับภูมิลำเนา หรือไปยังสถานพยาบาลอย่างเหมาะสม รวมถึงการกำกับดูแลการกักกันตนเองในที่พักอาศัย โดยให้มีการบูรณาการการดำเนิงานระหว่างชุมชน จิตอาสา อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และสถานพยาบาลในพื้นที่ ในการติดตาม เฝ้าระวัง ตรวจสอบ และป้องกันอย่างใกล้ชิด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 4.จัดให้มีศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจาก ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน บูรณาการข้อมูลจากทุกส่วนราชการ และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงทุกกลุ่ม ตลอดจนการขอความร่วมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยเฉพาะขั้นตอนการเฝ้าระวังและการป้องกัน 5.มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกันพิจารณาปริมาณความต้องการของสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันเชื้อไวรัส เช่น หน้ากากอนามัย และน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือเจลฆ่าเชื้อ และจัดหาให้เพียงพอกับความต้องการดังกล่าวในแต่ละช่วงเวลา โดยควรจัดลำดับความสำคัญในการกระจายสินค้าที่จำเป็นดังกล่าวตามระดับความเสี่ยงของบุคคล หน่วยงาน และสถานที่ เช่น สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก่อนประชาชนทั่วไป 6.มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการป้องกันการกักตุนหน้ากากอนามัย และน้ำยาฆ่เชื้อ หรือเจลฆ่าเชื้อ อย่างเคร่งครัด โดยครอบคลุมถึงช่องทางการขายสินค้าออนไลน์
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 7.มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินมาตรการคัดกรองผู้โดยสาร ทั้งท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่งผู้โดยสาร และท่ารถ อย่างเคร่งครัด 8.ให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงแรงานติดตามและดูแลคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส 9.มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม จัดเตรียมสถานที่พื้นที่สำหรับกักตัวผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด 10.ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นเพิ่มเติม ให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานสำนักงบประมาณ เพื่อขอรับจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อให้มีอย่างเพียงพอ 11.ให้มีการจัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ อย่างสม่ำเสมอ 12.ให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ในด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และจัดให้มีสวัสดิการพิเศษพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง และครอบครัว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า 13.ให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข บูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 หากมีความจำเป็น 14.ให้ส่วนราชการและหน่วยงานอื่นของรัฐขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการภาคเอกชนให้หลีกเลี่ยง หรือเลื่อนการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโดยไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต และการจัดมหรสพ เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่เป็นการดำเนินการของสถานประกอบการค้าตามปกติ ให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกัน ในกรณีที่เป็นกิจกรรมที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตพิจารณาความเหมาะสมของกิจกรรมอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสาธารณชนเป็นสำคัญ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า สำหรับด้านการบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้อง มอบหมายให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จัดทำมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแพระบาดเชื้อไวรัสเพื่อเสนอ ครม.ฝ่ายเศรษฐกิจ พิจารณาโดยเร็ว ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป รวมทั้งให้ข้อมูลและสื่อสารกับสาธารณชนเพื่อให้เกิดเอกภาพและสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน ผ่านศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากเชื้อไวรัส ที่จะได้มีการจัดตั้งขึ้น ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโดยครอบคลุมด้านต่าง ๆ ดังนี้ มาตรการทางภาษี มาตรการด้านสินเชื่อและพักชำระหนี้ มาตรการด้านงบประมาณ มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุน มาตรการการจ้างงานและพัฒนาทักษะ และมาตรการด้านสินค้าเกษตรและสินค้าอื่นในชุมชน.-สำนักข่าวไทย