สธ.24ก.พ.-กรมสุขภาพจิต เปิดเวทีระดมความคิดเห็นหลายฝ่ายลดภาวะวิกฤตผลกระทบทางด้านจิตใจจากเหตุความรุนแรง เตรียมจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายสู่การป้องกันแก้ไขปัญหาในอนาคต
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาและระดมความคิดเห็น “ลดวิกฤตผลกระทบทางจิตใจ..สื่อช่วยได้” ซึ่งเป็นเวทีที่จะรวบรวม เสียงสะท้อน มุมมอง ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากนักวิชาการกฎหมาย สื่อมวลชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดรูปแบบและแนวทางความร่วมมือ ลดภาวะวิกฤตผลกระทบทางด้านจิตใจจากเหตุความรุนแรง
อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า เหตุการณ์ความรุนแรงที่นครราชสีมาส่งผลกระทบทางด้านจิตใจรุนแรงทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างกับประชาชน ทั้งผู้ประสบเหตุ บุคคลในครอบครัว ญาติ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงประชาชน โดยที่สื่อมวลชนมีความสำคัญเป็นกลไกหลักที่จะช่วยลดผลกระทบทางจิตใจ ซึ่งผลกระทบนี้นับเป็นสัญญาณที่กรมสุขภาพจิตต้องถอดบทเรียนหาวิธีการและแนวทางปฏิบัติร่วมกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิชาการ ด้านกฎหมาย การสื่อสารและด้านสังคม เพื่อช่วยกันดูแลแก้ไขฟื้นฟูผลกระทบวิกฤตทางด้านจิตใจของประชาชนจากเหตุความรุนแรงที่ผ่านมา เพื่อเตรียมการสำหรับการป้องกันในอนาคต
ทั้งนี้ จากการระดมความคิดเห็นในเวทีนี้ จะนำเข้าสู่การกรองเพื่อนำเป็นข้อมูลในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการป้องกันและแก้ไขผลกระทบทางจิตใจของประชาชนจากเหตุการณ์ความรุนแรงในทุกรูปแบบต่อไปด้วย
ขณะที่ ศ.พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า บทเรียนจากการนำเสนอข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นของสื่อมวลชนมีมากมาย แบ่งเป็นสื่อมวลชนกระแสหลักและสื่อโซเชียลมีเดีย แน่นอนสื่อน้ำดีมีเยอะแต่ก็ยังได้เห็นสื่อที่นำเสนอข่าวสารเพื่อเรียก เรตติ้งให้มียอดคนดูจำนวนมาก โดยเฉพาะการนำเสนอภาพเหตุการณ์ที่มีความรุนแรง หรือใช้กราฟฟิคจำลองเหตุการณ์เสมือนจริงฉายวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวัน มองย้อนกลับภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้สังคมไทยมองเรื่องความรุนแรงทั้งหลายว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ยกตัวอย่างเหตุปล้นทองที่ลพบุรี คนร้ายที่เป็นถึงครูเป็น ผอ.ยิงเหยื่อจนเสียชีวิต แต่ก็ยังสามารถมาสอนจริยธรรมแก่เด็กนักเรียน
“เราต้องตั้งคำถามว่าเหตุความรุนแรงต่างๆเราทุกคนโดยเฉพาะสื่อมวลชนต้องตั้งถามตัวเองต่อการทำหน้าที่ว่าตั้งอยู่บนความรับผิดชอบชั่วดีมีจริยธรรมจรรยาบรรณที่เหมาะสมมากน้อยเพียงใด หากไม่อยากให้ความรุนแรงทั้งหลายเกิดขึ้นอีกในอนาคต ทุกฝ่ายต้องช่วยกันอย่างเต็มกำลัง”ศ.พิเศษ วิชา กล่าว
ด้านนพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ในฐานะผู้บัญชาการเยียวยาจิตใจ(ทีม MCATT) ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุกราดยิงที่เทอร์มินอล 21 โคราช เปิดเผยความคืบหน้าในการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง ขณะนี้เข้าสู่การดูแลจิตใจในระยะกลาง หรือระยะที่ 3 คือ ช่วง 2 สัปดาห์ถึง 6 เดือน ซึ่งทางทีมของกรมสุขภาพจิตดำเนินการในด้านการสร้างทักษะและความยืดหยุ่นด้านจิตใจ การช่วยเหลือกันในครอบครัวและคนใกล้ชิด สอดส่องมองหาผู้ที่ยังได้รับผลกระทบ ใส่ใจรับฟังซึ่งกันและกัน ส่งต่อข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์และสังคม เบื้องต้นขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ช่วยสร้างเสริมกำลังใจ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบก้าวผ่านไปได้.-สำนักข่าวไทย