กองทัพบก 17 ก.พ.- ผบ.ทบ.ลงนาม MOU กรมธนารักษ์ จัดสวัสดิการเชิงธุรกิจในกองทัพบก สนามกอล์ฟ-สถานตากอากาศ-ปั๊มน้ำมัน ไม่เว้นตลาดนัด แบ่งรายได้ให้หลวง พร้อมส่งที่ 1 ล้านไร่ ให้กรมธนารักษ์สแกน
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก และนายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบก เพื่อให้การใช้ที่ราชพัสดุของกองทัพบก (ที่ดิน อาคาร และสิ่งปลูกสร้าง) เป็นไปตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการลงนาม พล.อ.อภิรัชต์ ได้งดการแถลงข่าว ละมอบหมายให้ พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เสนาธิการทหารบก เป็นผู้แถลงร่วมกับนายนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง จากที่ก่อนหน้านี้ลงกำหนดการไว้ว่า จะแถลงข่าวด้วยตัวเอง
พล.อ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้ เพื่อให้กองทัพบกเกิดความถูกต้อง โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ สำหรับสัดส่วนการแบ่งรายได้ เป็นไปตามกฎหมายของกรมธนารักษ์ แต่ละธุรกิจมีสัดส่วนไม่เท่ากัน และต้องประเมินตามมูลค่าที่ดินประกอบด้วย โดยจากการสำรวจเบื้องต้น มีพื้นที่ 1 ล้านไร่ ที่จะต้องเข้ารับการตรวจสอบจากกรมธนารักษ์ ในจำนวนนี้ มีประมาณ 7 แสนไร่ ที่ถูกประชาชนบุกรุก การลงนามครั้งนี้ จึงครอบคลุมถึงการมอบอำนาจให้กรมธนารักษ์เข้าไปจัดสรรที่หลวง ด้วยการทำสัญญาเช่าระยะไม่เกิน 3 ปี
พล.อ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า สวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบก เบื้องต้นที่จะดำเนินการมีธุรกิจ 40 กว่าแห่ง ส่วนจะเป็นธุรกิจเชิงพาณิชย์หรือไม่ ต้องตรวจสอบก่อนว่า มีประชาชนเข้าใช้บริการเกิน 50% หรือไม่ เพราะมีบางธุรกิจ เช่น ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ถือว่าไม่ใช่การจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ แต่เป็นการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ซี่งกองทัพไม่ได้ส่วนแบ่งรายได้ทางตรง แต่กำลังพลจะได้ประโยชน์จากส่วนลดราคาสินค้า 5%
ทั้งนี้ การจัดสวัสดิการภายในกองทัพบก ดำเนินการภายใต้กรอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดสวัสดิการภายในส่วนราชการ พ.ศ. 2547 เช่น สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ตลาดนัด กิจการสโมสร สนามมวย สนามกอล์ฟ สนามม้า และสถานพักฟื้นพักผ่อนกองทัพบก
ที่ผ่านมา เน้นให้บริการ หรือ จำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพ และราคาถูกให้กับกำลังพล กองทัพบกและครอบครัว ส่งผลให้บุคคลทั่วไปให้ความสนใจมาใช้บริการและซื้อสินค้าในกิจการสวัสดิการของกองทัพบก ด้วยจำนวนที่มากกว่าสมาชิก (กำลังพลของกองทัพบกและครอบครัว) จึงให้ดำเนินการในรูปแบบการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ ซึ่งต้องขออนุญาตเช่าที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นจากการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ จะถูกนำส่งเป็นค่าเช่าและค่าธรรมเนียมให้แก่กรมธนารักษ์ส่วนหนึ่งตามบันทึกข้อตกลง ส่วนที่เหลือจะนำส่งเข้ากองทุนสวัสดิการกองทัพบก เพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้แก่กำลังพลกองทัพบกและครอบครัว
แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้ 1. การจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ กรณีปกติทั่วไป เช่น สถานีบริการน้ำมัน และ ร้านค้าตลาดนัด ให้เรียกเก็บค่าเช่า ค่าธรรมเนียม ตามอัตราที่กำหนดตามระเบียบและคำสั่งที่ใช้บังคับ ณ เวลานั้น 2. การจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจ กรณีพิเศษ ได้แก่ สนามมวย สนามกอล์ฟ สนามม้า และสถานพักฟื้นพักผ่อน ให้เรียกเก็บค่าเช่าค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้อง .- สำนักข่าวไทย